Page 247 - kpi21190
P. 247
247
การล่มสลายของประชาธิปไตยไมได้มีที่มาจากความเหลื่อมล้ำ (Teorell, 2010; Haggard and
Kaufman, 2016) 3) “ประชาธิปไตยไม่ได้ส่งผลต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเสมอไป”
(Bollen and Jackman, 1985; Sirowy and Inkeles, 1990; Timmons, 2010) งานบางชิ้น
ได้ทำการเปรียบเทียบการดำเนินนโยบายสาธารณะระหว่างประเทศประชาธิปไตย และประเทศ
ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย และมีข้อค้นพบว่าประเทศประชาธิปไตยมีอัตราการเก็บภาษีรายได้ทาง
ตรงที่น้อยกว่าประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ทั้งๆที่ภาษีทางตรงเป็นกลไกสำคัญในการกระจาย
ทรัพยากร ขณะที่การดำเนินนโยบายสังคมไม่มีความแตกต่างระหว่างกัน ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่า
ประชาธิปไตยอาจไม่ได้ส่งผลต่อการกระจายทรัพยากรในสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำมากนัก
(Mulligan, Gil and Sala-i-Martin, 2004)
สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ประเทศประชาธิปไตยไม่อาจดำเนินนโยบายกระจาย
ทรัพยากรได้มากนักอาจจะเนื่องมาจากการที่ชนชั้นนำสามารถเข้าไปส่งอิทธิพลต่อกระบวนการ
ทางการเมือง และชักจูงให้รัฐบาลดำเนินนโยบายในทิศทางที่เอื้อต่อการรักษาผลประโยชน์
ของชนชั้นนำและฝ่ายอนุรักษนิยม (Ardanaz and Scartascini, 2013) จากข้อค้นพบเหล่านี้
นักวิชาการบางคนถึงกับกล่าวว่า “ประชาธิปไตยมีข้อดีหลายประการ แต่การลดความเหลื่อมล้ำ
อาจจะไม่ใช่หนึ่งในนั้น” (Timmons, 2010) อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าประชาธิปไตยจะไม่ส่งผลใน
เชิงบวกต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยทั้งหมด แต่การที่ประชาธิปไตยจะส่งผลในลักษณะ
ดังกล่าวได้จำเป็นต้องอาศัยเงื่อนไขบางประการ ดังที่ในงานของเอ็ดเวิร์ด มุลเลอร์ (Edward
Muller) ชี้ว่าประชาธิปไตยจะส่งผลในทางบวกต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ต่อเมื่อประเทศ
ดังกล่าวมีประชาธิปไตยในระดับสูง และมีระยะเวลาของการปกครองภายใต้ประชาธิปไตย
ที่ยาวนาน (Muller, 1988) หากพิจารณาจากแผนภาพที่หนึ่ง ประเทศประชาธิปไตยที่ประสบ
ความสำเร็จในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำคือประชาธิปไตยก้าวหน้าที่ขยายขอบเขตของ
ประชาธิปไตยให้ครอบคลุมประเด็นเรื่องสิทธิและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม
อีกด้วย ตัวอย่างสำคัญของประเทศประชาธิปไตยลักษณะนี้คือประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย
ดังนั้น การทำความเข้าใจเงื่อนไขและปัจจัยที่ส่งผลให้ประชาธิปไตยสามารถเอื้อต่อการแก้ปัญหา
ความเหลื่อมล้ำได้ผ่านกรณีศึกษาเหล่านี้จึงอาจเป็นสิ่งจำเป็น
สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยที่ดำรงอยู่ต่อเนื่องยาวนานมีแนวโน้มที่จะสามารถ
แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อาจจะเนื่องมาจากบริบทของการก่อตัวของประชาธิปไตย ที่ในบาง
ช่วงเวลาแนวคิดกระแสหลักทางเศรษฐกิจมีทิศทางที่สนับสนุนบทบาทการแทรกแซงของภาครัฐ
แต่สำหรับประเทศประชาธิปไตยคลื่นลูกที่สาม ซึ่งบริบทการก่อตัวของประเทศประชาธิปไตย
กลุ่มนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่อุดมการณ์แบบเสรีนิยมใหม่กลายเป็นอุดมการณ์ครอบงำ
รัฐบาลประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นมาในช่วงนี้มักจะลดบทบาทการแทรกแซงในกลไกตลาด
ตามแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ (Fukuyama, 2011) ทำให้โอกาสในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การประชุมกลุ่มย่อยที่ 3
ของกลุ่มประเทศเหล่านี้มีค่อนข้างจำกัดนั่นเอง