Page 290 - kpi17073
P. 290
ดุลอำนาจระหว่างฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ
จาดุร อภิชาตบุตร*
คำว่า “ดุลอำนาจ” มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. 2542 หมายถึง การถ่วงอำนาจระหว่างประเทศให้มีพลังทางเศรษฐกิจ
หรือทางการทหารที่ทัดเทียมกัน ดังนั้น เมื่อนำดุลอำนาจมาใช้กับฝ่ายการเมือง
และข้าราชการประจำ ก็ย่อมหมายถึงการถ่วงอำนาจระหว่างฝ่ายการเมืองและ
ข้าราชการประจำให้ทัดเทียมกัน
ดุลอำนาจระหว่างฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ เสมือนเป็นคำถามที่
ต้องการคำตอบว่าดุลอำนาจของฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำอยู่ตรงไหน
อะไรเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงดุลอำนาจของทั้งสองระบบ โดยแท้จริงแล้วอำนาจของฝ่าย
การเมือง และอำนาจของข้าราชการประจำนั้น ต่างก็มีกฎหมายบัญญัติหน้าที่
ของแต่ละฝ่ายไว้อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นหากทั้งสองฝ่าย ไม่ก้าวก่ายอำนาจ
ซึ่งกันและกัน ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนเองไปตามกรอบอำนาจที่มีอยู่ การใช้
อำนาจก็จะอยู่ในระดับที่สมดุล ผสมผสานสอดคล้องกัน ทำให้เกิดความร่วมมือ
กันเป็นอย่างดี การก้าวก่ายในบทบาทหน้าที่ของกันและกันจะไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้
หากการใช้อำนาจขาดความสมดุลก็จะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา จนนำมาสู่
คำถามที่ว่าดุลอำนาจระหว่างฝ่ายการเมืองกับข้าราชการประจำอยู่ตรงไหน
มีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจกันอย่างไร
ฝ่ายการเมือง
“การเมือง” เป็นเรื่องของอำนาจ เป็นเรื่องของการสร้างอำนาจ การแบ่ง
สรรอำนาจ หรือการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจตามกติกา หรือกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้
นอกจากนี้การเมืองยังเป็นเรื่องของการกำหนดนโยบายและเป้าหมายของรัฐ
* ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย