Page 49 - kpi11663
P. 49
ตลอดจนกลุ่มอาชีพที่เกิดขึ้นใหม่ (กลุ่มแปรรูปดอกมะลิ) ยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนได้
ในอีกทางหนึ่ง
ในทางสังคม การจัดพื้นที่ให้ผู้พิการจำหน่ายสินค้าช่วยให้ผู้พิการมีอาชีพ เป็นการสร้าง
คุณค่า ความภาคภูมิใจและกำลังใจในการดำเนินชีวิตของผู้พิการ สำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชน
มัคคุเทศก์อาสาได้รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมในเวลาว่างและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ อันเป็น
การเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตและการเรียนรู้ตามวัย ที่สำคัญ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่
อย่างเต็มที่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ พ่อค้าแม่ค้า คนขับรถสี่ล้อแดง คนในชุมชน เด็กและ
เยาวชน ช่วยให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ เกิดความรักและความหวงแหนในการดูแลรักษา
และพัฒนาพื้นที่ ซึ่งส่งผลให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินงาน
ศูนย์สร้างสุข
การจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้พิการ เกิดจากความต้องการ
ของทีมหมอครอบครัว อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคง
ของมนุษย์ (อพม.) ชมรมผู้สูงอายุ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน หลังจากที่ได้ดำเนินโครงการเยี่ยมบ้าน
ผู้สูงอายุ โครงการเพื่อนเยี่ยมเพื่อน และลงพื้นที่สำรวจข้อมูลด้านสาธารณสุขของประชาชนทั้ง
10 หมู่บ้าน คณะทำงานทราบถึงข้อมูลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง และผู้ด้อยโอกาส
จึงนำเสนอข้อมูลให้แก่เทศบาลเมืองแม่เหียะและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลผ่านเวที
ประชุมประจำเดือนและเวทีการประชุม อสม. ประจำเดือน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุ
ร่วมกัน
ในปี 2559 จากการพูดคุย ปรึกษาหารือ ถอดบทเรียนจากพื้นที่อื่น และระดมความเห็น
ร่วมกันหลายครั้ง เทศบาลเมืองแม่เหียะ ทีมหมอครอบครัว อสม. อพม. ชมรมผู้สูงอายุ กำนัน
และผู้ใหญ่บ้าน ได้ตัดสินใจจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้พิการขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการด้านสาธารณสุข ด้านสุขภาพ และด้านสวัสดิการแก่ประชาชน
ทุกกลุ่มในทุกช่วงวัย โดยไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการ
รางวัลพระปกเกล้า’ 60