Page 70 - kpiebook65062
P. 70
วิชาชีพสถาปนิก
ในสมัยรัชกาลที่ ๗
การอธิบายพัฒนาการของการประกอบวิชาชีพสถาปนิกในสมัยรัชกาลที่ ๗ นั้น ย่อมควร
ย้อยพิจารณาถึงลักษณะของการประกอบวิชาชีพในช่วงรัชกาลก่อนหน้า ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ด้วยเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการที่จักมีสืบเนื่อง ผ่านรัชกาล
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มาสู่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ
ช่วงรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๑๑ – ๒๔๕๓) เป็นช่วงเวลาอันยาวนานที่เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น
อย่างมากในการประกอบวิชาชีพสถาปนิกในสยาม โดยที่ขณะนั้นสถาปนิกยังเป็นเพียงช่างแขนงหนึ่ง
มีหน้าที่ในการออกแบบและดำเนินการควบคุมการก่อสร้างอาคาร ในสมัยที่วิชาชีพสถาปนิก
ตามคำจำกัดความสมัยใหม่ยังไม่เป็นที่รู้จัก ตามระบบจารีต ช่างอาจแบ่งได้คร่าวๆ เป็นสามกลุ่ม คือ
ช่างหลวง ช่างพระ และช่างเชลยศักดิ์ ช่างหลวงคือข้าราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานออกแบบและ
ควบคุมการก่อสร้างของหลวง ตั้งแต่พระที่นั่งไปจนถึงราชยานคานหามและเรือพระที่นั่ง โดยวิชา
ความรู้ของช่างหลวงนี้เป็นความรู้ชั้นสูงที่สืบทอดกันมาในสกุล เช่น ช่างหลวงในสกุลหงสกุล เกตุทัต
และยมาภัย เป็นต้น ช่างพระคือพระภิกษุที่มีความรู้ในวิชาช่าง ด้วยพระอารามต่างๆ ก็มีถาวรวัตถุ
ที่ต้องทะนุบำรุงรักษา ทั้งวัดเองก็เป็นดั่งโรงเรียนสำหรับเด็กชายอยู่แล้วด้วย ส่วนช่างเชลยศักดิ์ คือ
ช่างที่อยู่นอกระบบราชการ รับจ้างออกแบบและควบคุมการก่อสร้างทั่วไป
การประกอบวิชาชีพช่างในระบบจารีตนี้เริ่มเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงในช่วงต้นรัชกาลที่
๕ เมื่อพระประมุขและชนชั้นนำสยามเริ่มว่าจ้าง ช่างฝรั่ง มาจากเมืองสิงคโปร์หรือทวีปยุโรป เพื่อ
ทำการออกแบบก่อสร้างอาคารที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก มีแบบแผนและเครื่องตกแต่ง
สถาปัตยกรรมที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของความ “ศิวิไลซ์” ในสายตาประชาคมโลก
ช่างฝรั่งรุ่นแรกโดยมากเป็นชาวอิตาเลียน เช่น นายโยอาคิม แกรซี (Joachim Grassi) นายสเตฟาโน
คาร์ดู (Stefano Cardu) และนายจูเซ็ปเป แฟร์รันโด (Giuseppe Ferrando) ช่างฝรั่งเหล่านี้
ประกอบวิชาชีพในสยามในฐานะผู้ออกแบบและรับเหมาก่อสร้าง ไม่ปรากฏว่าได้ผ่านการศึกษา
9