Page 55 - kpiebook65062
P. 55
ศึกษาแบบอย่างสถาปัตยกรรมกรีกและโรมันอย่างละเอียดถี่ถ้วน ทั้งจากการบรรยาย การรังวัด และ
การเขียนแบบ เพื่อศึกษาวิธีจัดวางองค์ประกอบ (composition) การออกแบบรายละเอียด
การใช้สี (polychromy) ของสถาปัตยกรรมคลาสสิค จนกระทั่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงาน
ออกแบบของตนเอง ควบคู่ไปกับการฝึกฝนอย่างจารีต เช่น การวาดภาพกายวิภาค (anatomical
sketch) และการวาดภาพ เป็นต้น
ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ต่อเนื่องถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ สถาปัตยกรรม
แบบนีโอคลาสสิคกลายเป็นภาษาสากลของสถาปัตยกรรมในโลกอาณานิคม ทั้งในทวีปแอฟริกา
อเมริกา และเอเชีย ด้วยเป็นเครื่องมือที่มหาอำนาจตะวันตกใช้ประกาศความเป็นเจ้าเป็นใหญ่
(superiority) เหนือผู้ถูกปกครอง มีรูปแบบซึ่งมีที่มาจากประวัติศาสตร์ตะวันตก ต่างไปจาก
สถาปัตยกรรมพื้นเมืองของผู้ถูกปกครองอย่างชัดเจน
อิทธิพลของรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบประวัติศาสตร์นิยมในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙
ต่อเนื่องถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ นี้เอง ที่ส่งผลโดยตรงต่อรูปแบบสถาปัตยกรรมอย่างตะวันตก
ในสยาม ในช่วงรัชกาลที่ ๕ ท่ามกลางบริบทของการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกในทวีป
เอเชีย ชนชั้นนำสยามได้เลือกใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบประวัติศาสตร์นิยมของตะวันตก ในการ
ประกาศภาวะความ “ศิวิไลซ์” ของสยาม โดยการว่าจ้างสถาปนิกฝรั่งชาติต่างๆ ทั้งอิตาเลียน อังกฤษ
เยอรมัน ฯลฯ ให้ออกแบบก่อสร้างอาคารต่างๆ ทั้งอาคารสาธารณะและอาคารพักอาศัย ในรูปแบบ
ตะวันตก เช่น รูปแบบสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิค (Neoclassicism) ในอาคารพระที่นั่งวโรภาษพิมาน
พระราชวังบางปะอิน (พ.ศ. ๒๔๑๕) โรงทหารหน้า (พ.ศ. ๒๔๒๔) วังบูรพาภิรมย์ (พ.ศ. ๒๔๒๔)
ศาลสถิตย์ยุตติธรรม (พ.ศ. ๒๔๒๕) และศุลกสถาน (พ.ศ. ๒๔๒๗) รูปแบบสถาปัตยกรรม
นีโอเรอเนสซองส์ (Neo-Renaissance) เช่น พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท (พ.ศ. ๒๔๒๕) โรงเรียนทหาร
สราญรมย์ (พ.ศ. ๒๔๓๓) และพระที่นั่งบรมพิมาน (พ.ศ. ๒๔๔๕) นอกจากนี้ยังมีอาคารในรูปแบบ
กอธิครีไววัล (Gothic Revival) เช่น พระอุโบสถ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ (พ.ศ. ๒๔๒๐) ตึกแม้นนฤมิตร
และตึกโชฎึกเลาหเศรษฐี โรงเรียนวัดเทพศิรินทราวาส (พ.ศ. ๒๔๓๘) และพรรณนาคาร
วัดประยุรวงศาวาส (พ.ศ. ๒๔๓๙) เป็นต้น
อย่างไรก็ดี เมื่อกระแสของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ทวีกำลังขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐
แนวทางสถาปัตยกรรมแบบประวัติศาสตร์นิยมก็เริ่มเสื่อมความนิยมลงโดยลำดับ ทว่าหลักการ
ในการออกแบบของโรงเรียนศิลปากร กรุงปารีสก็ยังคงทรงพลังอยู่มาก โดยเฉพาะในอาคารสถาบัน
อาคารราชการ ที่ต้องการเพียงรูปทรงอาคารที่สง่ามั่นคง ผังอาคารที่ตรงไปตรงมาและมีรูปร่างพื้นที่ว่าง
ที่ดี ตลอดจนรายละเอียดสถาปัตยกรรมที่ประณีตและเป็นที่คุ้นเคยของสาธารณชน นำไปสู่รูปแบบ
สถาปัตย์ใต้ร่มฉัตรพระปกเกล้าฯ