Page 53 - kpiebook65062
P. 53
ferro-concrete) วัสดุสมัยใหม่เหล่านี้ยังให้สถาปัตยกรรมและวิศวกรรมก้าวหน้าไปมาก ทั้งโครงสร้าง
ช่วงกว้าง อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ การผลิตอาคารจำนวนมาก หรือการผลิตชิ้นส่วนอาคารแบบ
สำเร็จรูป (pre-fabrication) ดังปรากฏในตัวอย่างอาคารเช่นคริสตัลพาเลซ (Crystal Palace)
ออกแบบโดยโจเซฟ แพกซ์ตัน (Joseph Paxton) เพื่อการแสดงนิทรรศการนานาชาติในปี
พ.ศ. ๒๓๙๔ อาคารโฮมอินชัวรันซ์ (Home Insurance Building) ออกแบบโดย วิลเลียม เลอ บารอน
เจนนีย์ (William Le Baron Jenney) เป็นอาคารสำนักงานสมัยใหม่ที่เป็นตึกสูง ๑๐ ชั้นในนครชิคาโก
สหรัฐอเมริกา ก่อสร้างในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ และหอไอเฟล (Eiffel Tower) ออกแบบโดยกุสตาฟ ไอเฟล
(Gustave Eiffel) ในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ เพื่อการแสดงนิทรรศการนานาชาติที่นครปารีส อาคารเหล่านี้
สะท้อนถึงความต้องการรูปแบบสถาปัตยกรรมใหม่สำหรับสังคมสมัยใหม่ ที่อาศัยศักยภาพของระบบ
อุตสาหกรรมการผลิตและเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเป็นแรงขับเคลื่อน
พัฒนาการสำคัญอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเดียวกัน คือพัฒนาการเทคโนโลยีอาคาร เช่น
ระบบไฟฟ้า ทั้งไฟฟ้าแสงสว่างและไฟฟ้ากำลัง ทำให้อาคารสมัยใหม่สว่างไสวในเวลากลางคืน
โดยปราศจากภยันตรายของอัคคีภัย ต่างจากอาคารในสมัยก่อนหน้าที่ใช้แสงสว่างจากแก๊สหรือถ่านหิน
ไฟฟ้ายังเป็นพลังงานสำคัญสำหรับลิฟต์และบันไดเลื่อน ที่เป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับอาคารสูงหรือ
อาคารสาธารณะขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังสัมพันธ์กับการใช้ระบบปรับอากาศ (air-conditioning
system) ภายในอาคาร ทั้งอาคารสาธารณะและอาคารพักอาศัย พัฒนาการเทคโนโลยีอาคารเหล่านี้
ล้วนมีผลต่อพัฒนาการรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา
ระบบการก่อสร้างและเทคโนโลยีอาคารสมัยใหม่ยังให้เกิดแนวทางสถาปัตยกรรมใหม่ที่แตกต่าง
จากรูปแบบสถาปัตยกรรมในอดีต คือรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบประวัติศาสตร์นิยม (Historicism)
ที่อาศัยการอ้างอิงรูปแบบสถาปัตยกรรมจากพงศาวดารการก่อสร้างของโลกตะวันตก เช่น
สถาปัตยกรรมคลาสสิค (Classical Architecture) สถาปัตยกรรมกอธิค (Gothic Architecture)
เป็นต้น ในช่วงต้นรัชกาลที่ ๕ เออแชน วิโอเลต์ เลอ ดุค (Eugène Viollet-le-Duc) นักประวัติศาสตร์
และทฤษฎีสถาปัตยกรรมชาวฝรั่งเศส เริ่มเรียกร้องให้สถาปนิกออกแบบอาคารที่ตอบสนองต่อ
พลวปัจจัยร่วมสมัย มีการแสดงออกถึงหน้าที่ใช้สอย โครงสร้าง และวัสดุ อย่างตรงไปตรงมา โดยมิต้อง
อ้างอิงถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมในอดีตอย่างหนึ่งอย่างใด แนวความคิดของวิโอเลต์ เลอ ดุคนี้ส่งอิทธิพล
อย่างมากต่อสถาปนิกสมัยใหม่รุ่นบุกเบิก เช่น หลุยส์ ซัลลิแวน (Louis Sullivan) และปีเตอร์ เบห์เรนส์
(Peter Behrens)
2 สถาปัตย์ใต้ร่มฉัตรพระปกเกล้าฯ