Page 3 - kpiebook64015
P. 3
บทที่ 1
บทนำ
เงิน (money) นับเป็นทรัพยากรที่มีบทบาทสำคัญมากในทางการเมือง เนื่องจากเงินจำนวนมหาศาลถูกใช้
ไปในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง ปัจจุบัน ประเทศประชาธิปไตยจำนวนมากได้มีการ
บัญญัติเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินของนักการเมืองและพรรคการเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ ตลอดจนมีการตรากฎหมาย
เกี่ยวกับการเงินของพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ภายใต้แนวคิดที่เชื่อว่าบทบัญญัติ
ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือในการกำกับทิศทางของการพัฒนาทางการเมือง โดยเฉพาะที่
เกี่ยวข้องกับการจัดโครงสร้างและดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง รวมถึงการจัดการทางการเงินของพรรค
การเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งให้สอดคล้องกับวิถีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ กฎหมายเกี่ยวกับ
พรรคการเมืองของประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่มักระบุถึงแหล่งที่มาของเงินรายได้และการตรวจสอบการใช้
จ่ายเงินของพรรคการเมืองไว้แยกเป็นหมวดเฉพาะ บางประเทศมีกฎหมายเกี่ยวกับการเงินของพรรคการเมืองแยก
จากกฎหมายพรรคการเมืองเป็นกฎหมายเฉพาะอีกฉบับหนึ่ง เช่น สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ เดนมาร์ก เป็นต้น
ในกรณีของไทย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้วางบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหาร
พรรคการเมืองไว้อย่างชัดแจ้งในมาตรา 45 ความว่า
“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครองระบอบ
ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่กฎหมายบัญญัติ
กฎหมายตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งต้อง
กำหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนด
นโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และกำหนดมาตรการให้สามารถดำเนินการโดยอิสระไม่ถูกครอบงำ
หรือชี้นำโดยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น รวมทั้งมาตรการกำกับดูแลมิให้สมาชิกของ
พรรคการเมืองกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง”
บทบัญญัติดังกล่าวเป็นที่มาของการกำหนดมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับ “เงินทางการเมือง” ของพรรค
การเมืองทั้งในเรื่องแหล่งที่มา ค่าใช้จ่าย การตรวจสอบ รวมถึงบทกำหนดโทษต่างๆ ซึ่งในหลายกรณีสามารถนำไปสู่
การสิ้นสภาพหรือยุบพรรคการเมืองที่กระทำความผิดได้
3