Page 70 - kpiebook62011
P. 70
บทบัญญัติตามมาตรา 37 แห่งร่างรัฐธรรมนูญฯ สะท้อนให้เห็นถึงหน้าที่สำคัญของรัฐสองด้าน ด้านแรก
คือ การคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินของเอกชน และด้านที่สอง คือ การรับรองการใช้อำนาจรัฐในการเวนคืน
อสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์สาธารณะ และรักษาสมดุลระหว่างหน้าที่ของรัฐทั้งสองด้านนี้ โดยกำหนดให้รัฐ
“ต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรม ภายในเวลาอันควรแก่เจ้าของ ตลอดจนผู้ทรงสิทธิบรรดาที่ได้รับ
ความเสียหายจากการเวนคืน” ตามที่กฎหมายบัญญัติ กฎหมายฉบับดังกล่าว คือ พระราชบัญญัติว่าด้วย
การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งกำหนดขั้นตอน กระบวนการ และรูปแบบ ในการดำเนินการเวนคืน
อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืนด้วย
อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติดังกล่าวยังคงมีปัญหาหลายประการ ทั้งปัญหาและอุปสรรคใน
การกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนที่ทำให้ผู้มีสิทธิรับเงินค่าทดแทนได้รับเงินค่าทดแทนที่ไม่เป็นธรรม และ
ปัญหาของรัฐในการนำอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น
รายงานการศึกษาฉบับนี้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
7.1 การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับค่าทดแทนที่ไม่เป็นธรรม
รายงานฉบับนี้เสนอแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
พ.ศ. 2530 ดังนี้
(1) เนื่องจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ย่อมกระทบกับสิทธิของประชาชนดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
คณะผู้วิจัยเสนอให้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืน
อสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โดยตัด “ประโยชน์สาธารณะอื่นๆ” ออก เพื่อให้การเวนคืนที่ดิน
มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และสอดคล้องกับข้อ 16 คู่มือปฏิบัติตามความสมัครใจว่าด้วยการจัดการ
การถือครองที่ดิน การประมงและป่าไม้ในบริบทของความมั่นคงทางอาหารในระดับชาติ
นอกจากนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวจะช่วยป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะ
ข้อถกเถียงว่า “การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์” ควรถือเป็น “ประโยชน์สาธารณะ” หรือไม่
คณะผู้วิจัยเห็นว่า รัฐไม่ควรใช้กฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
เนื่องจากการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์นั้นควรเป็นบทบาทของภาคเอกชนมากกว่ารัฐ
(2) เนื่องจากหมวด 2 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 กำหนด
ค่าทดแทนเป็นเงินเท่านั้น จึงอาจพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมหมวดดังกล่าวให้สามารถจ่ายค่าทดแทน
เป็นที่ดินอื่นได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ดินที่ถูกเวนคืนดังกล่าวนั้นถูกใช้เพื่อการประกอบอาชีพ เช่น พื้นที่
ที่ใช้ทำการเกษตร เพื่อให้ลดผลกระทบแก่ผู้ถูกเวนคืน และสอดคล้องกับข้อ 16 คู่มือปฏิบัติตาม
ความสมัครใจว่าด้วยการจัดการการถือครองที่ดิน การประมงและป่าไม้ในบริบทของความมั่นคง
ทางอาหารในระดับชาติ ทั้งนี้ อาจต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการจัดรูปที่ดินควบคู่กัน
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530