Page 8 - 22353_Fulltext
P. 8
บทที่ 1
ที่มาและความสำคัญ
หลักการและเหตุผล
แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย
เพื่อให้พลเมืองสามารถใช้อำนาจอธิปไตยที่ตนมีในการปกครองประเทศผ่านการเลือกผู้แทนได้ตามแนวคิด
ประชาธิปไตยแบบผู้แทน (representative democracy) กระนั้น การเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกครั้งกลับพบว่า
ได้นำมาสู่ปัญหาความขัดแย้งไม่เฉพาะระหว่างผู้สมัครเท่านั้นแต่ยังขยายลงไปสู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่สนับสนุน
ผู้สมัครแต่ละฝ่ายด้วย ส่งผลให้การเมืองท้องถิ่นเกิดความแตกแยกขัดแย้ง ขาดความสามัคคีในการพัฒนา
ร่วมกัน เนื่องจากเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันภายหลังการเลือกตั้ง อันกระทบต่อการพัฒนาประเทศและสำนึก
พลเมืองประชาธิปไตยในภาพรวม
การซื้อสิทธิขายเสียงในที่นี้ผู้วิจัยได้หยิบยืมนิยามที่ โอฬาร ถิ่นบางเตียว และ รศ.ดร.นครินทร์
เมฆไตรรัตน์ (2016) มาใช้เนื่องจากมีความชัดเจนและครอบคลุมรายละเอียดที่สำคัญ โดยทั้งสองท่านระบุว่า
“การซื้อสิทธิขายเสียง หมายถึง พฤติกรรมการทุจริตเลือกตั้งโดยใช้เงินแลกเปลี่ยนกับการลงคะแนนเสียง
เลือกตั้งซื้อเสียงหรือการเสนอสิ่งตอบแทนในรูปผลประโยชน์หรือทรัพย์สินต่างๆ หรืออาจเป็นการสัญญาว่าจะ
ให้ทรัพย์สินสิ่งตอบแทนแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้ลงคะแนนหรืองดเว้นการลงคะแนนแแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง
คนใดหรือพรรคการเมืองใดในเขตเลือกตั้งนั้น” โดยรูปแบบของการซื้อสิทธิขายเสียงนั้นมีหลากหลายนับตั้งแต่
การให้เงินหรือสิ่งของแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยตรง การให้เงินเพื่อซื้อหัวคะแนนและผู้มีอิทธิพล การซื้อคู่แข่ง
เพื่อให้ยอมแพ้ต่อการแข่งขัน การจ่ายเงินเพียงครึ่งเดียวก่อนแล้วจ่ายอีกครึ่งในภายหลัง การพนันขันต่อ และ
การสัญญาว่าจะให้ เป็นต้น
อันที่จริงที่ผ่านมาเมื่อถึงฤดูกาลเลือกตั้ง ก็มีความพยายามของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการ
ส่งเสริมการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่จากการสำรวจพบว่ากระบวนการดังกล่าวมักจะเน้นไปที่
มิติเรื่องการเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายเป็นหลักว่าสิ่งใดสามารถทำได้หรือทำไม่ได้บ้างในช่วงของการเลือกตั้ง
ซึ่งในทางปฏิบัติการซื้อสิทธิขายเสียงเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับหลายมิติ ทั้งเรื่องของความรู้ ความเข้าใจ
ผลประโยชน์ส่วนรวม และผลประโยชน์ส่วนตัว อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์กับผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายซึ่งอาจจำแนก
ได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ หน่วยงานภาครัฐ ส่วนของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่สำคัญ
การเลือกตั้งไม่ได้เริ่มต้นและสิ้นสุดลงที่คูหาเลือกตั้งแต่เป็นกระบวนการต่อเนื่องที่เกิดขึ้นทั้งก่อน ระหว่าง และ
หลังการเลือกตั้ง ด้วยเหตุนี้ การอบรมกฎหมายและข้อพึงปฏิบัติอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะส่งเสริมการไม่ซื้อ
สิทธิขายเสียงได้ แต่จำเป็นต้องใส่ใจกับกระบวนการเลือกตั้งในทุกระยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนการ
เลือกตั้ง
7