Page 4 - 22353_Fulltext
P. 4

บทคัดย่อ

                       โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่องการเลือกตั้งสมานฉันท์และไม่ซื้อสิทธิขายเสียง จังหวัดชัยภูมิ

               ดำเนินการกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิและการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองชัยภูมิ

               โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาแนวทางการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ

               ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือและการสานเสวนาหาทางออก 2) เพื่อศึกษาการนำแนวคิดประชาธิปไตยแบบ

               ปรึกษาหารือและการสานเสวนาหาทางออกไปประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมการเลือกตั้งสมานฉันท์และไม่ซื้อสิทธิ
               ขายเสียง และ 3) เพื่อพัฒนาผลการศึกษาและแนวทางการเลือกตั้งสมานฉันท์และไม่ซื้อสิทธิขายเสียงให้เป็น

               ข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยผู้วิจัยนำการจัดเวทีสานเสวนาหาทางออก (deliberation) มาเป็นเครื่องมือหลักของ

               การวิจัยเชิงปฏิบัติการและแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ก่อน ระหว่าง และหลังการเลือกตั้ง


                       ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการนำแนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือมาปรับใช้โดยการจัดเวที

               สาธารณะ จำเป็นต้องมีการกำหนดกระบวนการดำเนินงานในรายละเอียดและต้องนำหลักการประนีประนอม

               หลักความเป็นกลางและผลประโยชน์ร่วมมาปรับใช้ไปพร้อมกัน โดยผลการประยุกต์ใช้ประชาธิปไตยแบบ
               ปรึกษาหารือในการส่งเสริมการเลือกตั้งสมานฉันท์และไม่ซื้อสิทธิขายเสียงพบว่าการจัดเวทีเสวนาสามารถเพิ่ม

               ความรู้เรื่องการเลือกตั้งสมานฉันท์และไม่ซื้อสิทธิขายเสียได้ ทั้งยังสามารถกระตุ้นความสนใจและการมีส่วน

               ร่วมให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมเวทีได้ โดยร้อยละ 99 ของผู้ที่เข้าร่วมเวทีมีการเผยแพร่บอกต่อโครงการนี้ออกไปหลาย

               ช่องทาง แม้ว่าผู้เข้าร่วมร้อยละ 71 ประเมินว่าโครงการนี้สามารถส่งเสริมการไม่ซื้อสิทธิขายเสียงได้ในระดับ

               ปานกลาง ทว่าผู้เข้าร่วมร้อยละ 97 มองว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จในการสร้างความสมานฉันท์และมี
               ความเห็นว่าควรดำเนินโครงการนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในระยะยาว


                       ข้อจำกัดในการดำเนินโครงการ ประกอบด้วย ปัจจัยด้านระยะเวลาในการให้ความรู้ที่สั้นเกินไป

               จำนวนในการจัดเวทีเสวนายังน้อยเกินไป บริบทแวดล้อมที่อยู่ในบรรยากาศของการแข่งขันเลือกตั้ง และ

               ธรรมชาติของผู้เข้าร่วมเวทีที่มักขยายผลผ่านบุคคลใกล้ชิดมากกว่าจะเผยแพร่สู่สาธารณะ ดังนั้น งานวิจัยจึงมี

               ข้อเสนอเพื่อพัฒนาโครงการดังนี้ 1) ควรมีการจัดเวทีเสวนาอย่างต่อเนื่องไม่จำกัดเฉพาะในฤดูกาลเลือกตั้ง

               เท่านั้น 2) ควรมีการพัฒนาสื่อบุคคลให้มากขึ้นเพื่อช่วยประชาสัมพันธ์แนวคิดสู่คนในพื้นที่ 3) ทำความเข้าใจ
               กฎหมายเลือกตั้งเพื่อชี้ให้เห็นช่องทางการรณรงค์ไม่ซื้อสิทธิขายเสียงแก่คนในชุมชน 4) เน้นการสร้างความ

               สมานฉันท์เพื่อลดความรุนแรงในการแข่งขันและส่งเสริมการหาเสียงเชิงสร้างสรรค์ พร้อมทั้งมีข้อเสนอเชิง

               นโยบาย คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดให้มีเวทีสานเสวนาเป็นการเฉพาะโดยแยกออกมาจากการจัดอบรมให้

               ความรู้ด้านกฎหมาย ควรผนวกแนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือไว้ในการอบรมของหน่วยงานภาครัฐ

               และสถาบันการศึกษาทั้งในและนอกระบบโรงเรียน เพื่อทำให้การปรึกษาหารือกลายเป็นส่วนหนึ่งของ
               วัฒนธรรมและวิถีชีวิต


                คำสำคัญ: การเลือกตั้งสมานฉันท์, ประชาธิปไตยปรึกษาหารือ, ไม่ซื้อสิทธิขายเสียง


                                                                                                         3
   1   2   3   4   5   6   7   8   9