Page 2 - 22353_Fulltext
P. 2
คำนำ
การเลือกตั้งนับเป็นกลไกสำคัญในการได้มาซึ่งผู้แทนตามระบอบประชาธิปไตย ทว่าที่ผ่านมาเมื่อมีการ
เลือกตั้งครั้งใด สิ่งที่พบคือการแข่งขันที่รุนแรงกระทั่งนำไปสู่ความแตกแยกของคนในชุมชนกระทั่งไม่อาจ
ทำงานร่วมกันได้เมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุดลง มีการทุ่มเททรัพยากรต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ ทำให้เมื่อถึงฤดู
การเลือกตั้งครั้งใดบทบาทของผู้สมัครรับเลือกตั้งจึงโดดเด่นอย่างมาก ขณะที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลับไม่มีบทบาท
ในฤดูกาลนี้มากนักทั้งๆที่ในการเลือกตั้งนับเป็นช่วงเวลาสำคัญของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะใช้อำนาจอธิปไตยของ
ตนในการเลือกผู้แทนที่ดีและมีความสามารถเข้ามาทำหน้าที่แทนตนได้ แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นคือเสียงของ
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมักหายไประหว่างการหาเสียง มีเพียงเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งเท่านั้นที่ดังออกมาในฤดูกาล
นี้ กระทั่ง เกิดวาทะที่ล้อเลียนกันว่าประชาชนมีประชาธิปไตยเพียง “4 วินาที” เท่านั้นในช่วงของการเข้าคูหา
เลือกตั้ง ทั้งที่การเลือกตั้งเป็นกระบวนการสำคัญที่ภาคประชาชนจะได้ทบทวนผลงานของผู้สมัครอีกครั้งและ
ร่วมกันกำหนดว่าผู้แทนที่พึงปรารนาของพวกเขาควรมีคุณลักษณะเช่นใด
ด้วยเหตุนี้ สำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง จึงได้พัฒนากรอบการเลือกตั้งเชิงสร้างสรรค์ขึ้น ภายใต้
โครงการเลือกตั้งสมานฉันท์และไม่ซื้อสิทธิขายเสียง เพื่อลดปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงและการแข่งขันกันอย่าง
รุนแรงที่สุดท้ายแล้วอาจนำไปสู่ความแตกแยกระหว่างผู้คนในสังคมที่อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาและแก้ไข
ปัญหาเชิงนโยบายของผู้คนในชุมชนและคุณภาพชีวิตในภาพรวม โดยเป็นการผสานระหว่างแนวคิดเรื่อง
ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberative democracy) เข้ากับประชาธิปไตยแบบผู้แทน
(representative democracy) โดยมีเครื่องมือสำคัญคือการจัดเวทีสานเสวนาหาทางออก (deliberation)
เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาให้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการได้มาซึ่งผู้แทนที่ดีมีคุณภาพประกอบกับ
ส่งเสริมวัฒนธรรมประชาธิปไตยในการมีส่วนร่วมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปพร้อมกัน โดยในปี 2564 สำนักส่งเสริม
การเมืองภาคพลเมือง ได้ดำเนินโครงการนี้ในจังหวัดชัยภูมิ ในการเลือกตั้ง 2 ระดับ คือ ในการเลือกนายก
องค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ และในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองชัยภูมิ
ในการนี้ สำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมืองหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแนวทางการเลือกตั้งสมานฉันท์และไม่
ซื้อสิทธิขายเสียงที่ดำเนินการนี้ จะให้ข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งในมุมที่แตกต่างออกไปว่าไม่ใช่เพียงฤดู
การหาเสียงของผู้สมัคร แต่เป็นฤดูกาลสร้างความเปลี่ยนแปลงและกำหนดกติกาใหม่ร่วมกันระหว่างผู้สมัคร
และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งสิ้นสุดลงที่ความเข้าใจอันดีระหว่างกัน และนำมาสู่คุณภาพของ
ประชาธิปไตยและคุณภาพชีวิตในภาพรวม
ศุภณัฐ และ จารุวรรณ
สำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง
1