Page 56 - kpi17073
P. 56
8 ทศวรรษ ประชาธิปไตยไทย:
พลวัตแห่งดุลอำนาจ
ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม*
ท่านประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ท่านอดีตนายกรัฐมนตรี ท่านผู้มีเกียรติ
ที่เคารพซึ่งเข้าร่วมการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 16 ทุกท่าน
ผมคงจะจำเป็นต้องรบกวนเริ่มต้นด้วยความเชื่อ ความเข้าใจของนักวิชาการว่า
การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ ผมใช้คำว่านักวิชาการส่วนหนึ่ง เพราะว่ามีส่วนที่
ยังไม่ได้เชื่อถืออย่างนี้ก็มี แต่ในความเข้าใจทั่วไปนั้น เห็นจะมาสรุปลงได้ว่า
การเมืองนั้นเป็นเรื่องของอำนาจไม่ว่าจะเป็นการได้มาซึ่งอำนาจ การรักษาไว้ซึ่ง
อำนาจ การใช้อำนาจ ระยะหลังพูดต่อไปถึงเรื่องการถ่ายโอนอำนาจ การสิ้นสุด
อำนาจด้วยก็ได้ รวมความแล้วมันก็วนเวียนเรื่องอำนาจ เพราะฉะนั้นเมื่อเราพูด
ถึงเรื่องพลวัตในทางการเมือง ก็พูดถึงเรื่องความเปลี่ยนแปลง ความอ่อนไหวของ
การเมือง เมื่อเราพูดถึงเรื่องแปดทศวรรษการเมืองไทย เรากำลังพูดถึงเรื่องของ
อำนาจที่วนเวียนแหวกว่ายตลอดเวลา 80 ปีที่ผ่านมา นักวิชาการกำหนด 10 ปี
เป็นหนึ่งทศวรรษ 80 ปีเป็น 8 ทศวรรษ ทำไมสถาบันพระปกเกล้าจึงตั้งชื่อ
8 ทศวรรษ เข้าใจว่าจะจับเอาเหตุการณ์ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 เป็นตัวตั้ง แต่นับบัดนี้ก็ 82 ปี กลมๆ ตีว่า 80 ปี บวกลบ
เลยได้แปดทศวรรษ ผมจึงขอทึกทักเอาว่าหมายถึงการเริ่มต้นปี พ.ศ.2475
ซึ่งเป็นปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง และมีการเริ่มต้นการเมืองยุคใหม่ในรัฐไทย
นับจนมาถึงบัดนี้ ประมาณ 8 ทศวรรษ ซึ่งมันก็มีความเปลี่ยนแปลงอะไร
หลายอย่างเกิดขึ้น แปดทศวรรษนี้ถ้าย้อนไปปี พ.ศ.2475 ได้ตัวเลขน่าสนใจว่า
ประชากรตอนนั้นมี 14 ล้านคน มาถึงปลายทศวรรษที่ 8 นี้ มีตัวเลขราชการ
ล่าสุดประมาณ 64 ล้านคน แปลว่าเพิ่มขึ้น 50 ล้านคน ปี พ.ศ.2475
ครั้งสุดท้ายก่อนจะเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่กี่วัน ตั้งงบประมาณไว้ที่
75 ล้านบาท ปีนี้งบประมาณล่าสุด 2.5 ล้านล้านบาท แน่นอนค่าของเงิน
ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยนับจากรัฐบาลชุดพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เมื่อ 80 ปี
ที่ผ่านมา จนกระทั่งรัฐบาลปัจจุบันเรามีรัฐบาลทั้งหมด 61 คณะ มีนายกรัฐมนตรี
29 คน มีรัฐธรรมนูญ 19 ฉบับ และกำลังจะมีฉบับที่ 20 ที่สำคัญมีการ
เปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐโดยวิถีทางอื่นนอกรัฐธรรมนูญ 13 ครั้ง จะเรียกว่า
ยึดอำนาจอะไรก็ตามทีนั้นเป็นบริบทช่วงเวลาเหตุการณ์ 8 ทศวรรษที่ผ่านมา
* รองนายกรัฐมนตรี