Page 10 - kpi12821
P. 10
ณรงค์เดช สรุโฆษิต
ประการต่อมา เป็นการทำลายโอกาสที่พรรคการเมืองไทยจะพัฒนาไปสู่
การเป็นสถาบันในระบบการเมืองกล่าวคือ ในประเทศประชาธิปไตยที่ระบบ
พรรคการเมืองเข็มแข็ง พรรคการเมืองจะเป็นสถาบันในระบบการเมืองที่แยกออกจาก
ตัวบุคคลผู้เป็นแกนนำของพรรคการเมืองทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ ซึ่ง
ต่างจากกรณีของไทยในหลายพรรคการเมือง แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีจุดกำเนิดอย่างไร และ
ไม่ว่าสภาพข้อเท็จจริง ณ ปัจจุบันเกี่ยวกับการบริหารงานของพรรคการเมืองนั้นๆ
จะเป็นเช่นไร พรรคการเมืองต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่มีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่สภาวะการเป็น
“สถาบัน” ได้ ซึ่งกฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบันก็กำหนดมาตรการหลายอย่างที่จะ
ส่งเสริมประชาธิปไตยภายในพรรคการเมืองเพื่อให้พรรคการเมืองพัฒนาไปสู่จุดนั้นได้
ภายใต้เงื่อนไขว่า พรรคการเมืองต้องสามารถดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาที่
ยาวนานพอสมควรที่จะให้เกิดการพัฒนาตนเอง
ดังนั้น การยุบพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคที่ได้รับการยอมรับจาก
ประชาชนให้มีผู้แทนในสภา เพียงเพราะเหตุกระทำผิดกฎหมายเล็กๆน้อยๆ หรือไม่ทำ
หน้าที่บางอย่าง จึงเท่ากับเป็นการทำลายโอกาสที่พรรคการเมืองไทยจะพัฒนาไปสู่การ
เป็นสถาบัน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อระบบการเมืองไทยในระยะยาว
( )
ประการสุดท้าย เป็นชนวนบ่มเพาะปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองใน
สังคมไทยในระยะที่ผ่านมาให้ลุกลามบานปลายยิ่งขึ้น เนื่องจาก ผู้มีอำนาจทางการเมือง
ไทยทุกฝ่ายต่างพยายามใช้กลไกการยุบพรรคการเมืองเป็นเครื่องมือกำจัดศัตรูคู่แข่งขัน
ทางการเมือง โดยอาศัยช่องทางที่กฎหมายไทยกำหนดเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองไว้
อย่างกว้างขวางมาก และปราศจากกลไกทางวิธีพิจารณาที่ประกันมิให้มีการยุบ
พรรคการเมืองได้โดยง่าย การยุบพรรคการเมืองของไทยจึงกลายเป็นเครื่องมือสลาย
การรวมกลุ่มของนักการเมืองในพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เป็นกลไกเปลี่ยนแปลงการจับ
ขั้วทางการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาล และถูกใช้เป็นอาวุธเพื่อการตอบโต้ทางการเมือง
การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกำจัดศัตรูทางการเมืองนี่เองเป็นหนึ่งในหลาย
สาเหตุที่ทำให้ปัญหาความขัดแย้งแบ่งเป็นฝักฝ่าย สีเหลือง – แดง ในสังคมไทย
ยิ่งลุกลามบานปลายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความผิดปกติหลายอย่างเกี่ยวกับ
การดำเนินคดียุบพรรคการเมืองที่ผ่านมา บางกรณีก็ดำเนินการอย่างรวดเร็ว และไม่
เคร่งครัดในเรื่องข้อบกพร่องทางวิธีพิจารณามากนัก แต่บางกรณีกลับเป็นตรงกันข้าม
ทั้งนี้ แม้ว่าการดำเนินการต่างๆ ในหลายกรณีจะกระทำโดยสุจริตและถูกต้องตาม
กฎหมาย แต่ก็ทำให้สาธารณชนโดยเฉพาะที่อยู่ในขั้วตรงกันข้ามเกิดความเคลือบแคลง
สงสัยในความสุจริตและเที่ยงธรรมของนายทะเบียน กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ