Page 21 - kpi17073
P. 21
20 การประชุมวิชาการ
สถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 16
ประโยชน์สาธารณะ ในบางครั้งการแสดงออกของภาคพลเมืองอาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของ
ผู้อื่นและทำให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมได้ ดังนั้น การเสริมสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบ
ประชาธิปไตยผ่านการให้การศึกษาความเป็นพลเมือง (civic education) และทำให้มีความรู้
ทางการเมือง (political literacy) จะทำให้เกิดดุลยภาพในสังคมอย่างยั่งยืน
ประเด็นการอภิปรายในห้องย่อย
1) ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองแบบตัวแทนกับการเมืองภาคพลเมืองในด้านต่างๆ เช่น
การตรวจสอบถ่วงดุลและกำหนดนโยบายสาธารณะ
2) กลไกและกระบวนการในการใช้อำนาจของภาคพลเมือง
3) การเสริมสร้างพลังพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย
6. ดุลอำนาจรัฐ ท้องถิ่น และประชาชน: การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น
การปฏิรูปการเมืองภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ส่งผลต่อการ
เปลี่ยนแปลงบทบาทและความสำคัญของการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น ทั้งนี้เพราะ
เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมุ่งสู่การปฏิรูปการเมืองทั้งระบบ โดยหัวใจสำคัญ คือ การลดการรวม
ศูนย์อำนาจรัฐและกระจายอำนาจสู่ประชาชน และมีกลไกที่สำคัญประการหนึ่งคือ การเพิ่ม
บทบาทและความสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ปัจจุบันนับเป็นเวลามากกว่าทศวรรษที่ประเทศไทยขับเคลื่อนการกระจายอำนาจและ
การปกครองท้องถิ่น ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นหลายประการ
อาทิ การเปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกสภาและผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง การให้ประชาชน
มีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลและมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการของท้องถิ่น การกระจายอำนาจ
หน้าที่และงบประมาณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทเป็นหน่วยงานหลักในการจัดบริการ
สาธารณะให้แก่ประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งริเริ่มนวัตกรรมการบริหาร
รวมถึงสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน
อย่างไรก็ตามการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีปัญหาหลายประการ
ได้แก่ ประการแรก กระบวนการกระจายอำนาจไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนงานที่กำหนด
ประการที่สอง ปัญหาในเชิงระบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถ
ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ ประการที่สาม ปัญหาความไม่ไว้วางใจต่อองค์กรปกครอง
ส่วนถิ่น
ดังนั้นทิศทางการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นที่มุ่งสู่การลดการรวมศูนย์อำนาจ
รัฐและกระจายอำนาจสู่พื้นที่และประชาชนจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ควรมีการทบทวนและศึกษา
เพื่อเป็นแนวทางสำคัญที่จะพัฒนาการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง
มากขึ้น และช่วยสร้างดุลยภาพที่เหมาะสมระหว่างรัฐ ท้องถิ่นและประชาชน