Page 272 - kpi16531
P. 272
นวัตกรรมการพัฒนารายได้ 2
ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3.3.2. สถานการณ์ภาพรวมของการดำเนินกิจการพาณิชย์และกิจการ
เพื่อสังคมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย
การดำเนินกิจการพาณิชย์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยเริ่มขึ้นครั้งแรก
เมื่อมีการจัดตั้งเทศบาลใน พ.ศ. 2476 โดยเทศบาลสามารถจัดตั้งและดำเนินกิจการพาณิชย์หรือ
ที่มีชื่อเรียกว่า “เทศพาณิชย์” ได้ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติเทศบาลพ.ศ. 2496 ตามมาตรา
51(9) มาตรา 54(12) และตามมาตรา 57 โดยก่อนจะมีการกระจายอำนาจใน พ.ศ. 2540 ก็มีการ
ดำเนินเทศพาณิชย์ในพื้นที่เทศบาลบางแห่งเช่น การเดินรถของเทศบาลนนทบุรี การค้าน้ำมัน
เชื้อเพลิงของเทศบาลเมืองราชบุรี และการประกอบกิจการสถานธนานุบาลของเทศบาลนครกรุงเทพ
เชียงใหม่ ยะลา และอุดรธานี เป็นต้น (ทิพากร ม.ป.ป., 77) ทำให้นับตั้งแต่นั้นมากฎหมายจัดตั้ง
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดจึงได้ให้อำนาจการดำเนินกิจการพาณิชย์ (ดูใน 3.3.1)
ส่วนการดำเนินกิจการเพื่อสังคมโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะผู้วิจัยไม่สามารถ
หาข้อมูลได้ว่ามีการริเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อใด แต่จากการสำรวจพบว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
บางแห่งที่ก่อตั้งสหกรณ์หรือมูลนิธิที่ดำเนินการหรือให้การสนับสนุนโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
แต่การดำเนินงานยังมิได้นำมาเป็นกลไกหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ มีข้อจำกัดในการดำเนิน
งาน และยังไม่มีแนวทางในการหารายได้ให้เพียงพอต่อการดำเนินงานเท่าที่ควร
3.3.2.1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำเนินกิจการพาณิชย์และกิจการ
เพื่อสังคม
ภาพรวมการดำเนินกิจการพาณิชย์พบว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ไม่มากนักที่ดำเนินกิจการพาณิชย์และมักมีรูปแบบการดำเนินกิจการด้วยตนเองที่เป็น
หน่วยงานหนึ่งในโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ส่วนใหญ่ จำนวน 389 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 51.7 ไม่ได้ดำเนินกิจการพาณิชย์ และองค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่น จำนวน 295แห่ง คิดเป็นร้อยละ 39.2 ดำเนินกิจการพาณิชย์
แต่ถ้าพิจารณาแยกตามประเภทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพบว่าองค์การ
บริหารส่วนจังหวัดส่วนใหญ่จำนวน 32 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 78 เทศบาลส่วนใหญ่จำนวน 318 แห่ง
คิดเป็นร้อยละ 48.3 และองค์การบริหารส่วนตำบลส่วนใหญ่ จำนวน 39 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 73.6
ไม่ได้ดำเนินกิจการพาณิชย์ ขณะที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 5 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 12.2
เทศบาล จำนวน 277 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 42.1และองค์การบริการส่วนตำบล จำนวน 12 แห่ง
คิดเป็นร้อยละ 22.6 ดำเนินกิจการพาณิชย์ ซึ่งเหตุที่องค์การบริหารส่วนตำบลดำเนินกิจการพาณิชย์
ได้น้อยส่วนหนึ่งมาจากศักยภาพและงบประมาณมีจำกัดเพราะอบต. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ขนาดเล็กและยังไม่มีกรอบกฎหมายที่ชัดเจนในการดำเนินกิจการพาณิชย์เมื่อเทียบกับเทศบาลและ
องค์การบริหารส่วนจังหวัด