Page 163 - kpi16531
P. 163
1 นวัตกรรมการพัฒนารายได้
ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
โรงบำบัดน้ำเสียแห่งที่สามนี้เกิดขึ้นจากการที่เมืองพัทยาได้ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ
โดยในปี พ.ศ. 2535 กรมควบคุมมลพิษว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียด
ระบบระบายน้ำ ระบบรวบรวม และบำบัดน้ำเสีย ผลจากการสำรวจและออกแบบพบว่า หากกำหนด
ให้มีระบบบำบัดน้ำเสียรวมเพียงแห่งเดียวจะทำให้การลงทุนก่อสร้าง ค่าเดินระบบ ค่าบำรุงรักษา
ระบบ ตลอดจนการจัดการระบบในระยะยาวสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า และต่อมาในปี
พ.ศ. 2536 กรมควบคุมมลพิษยังได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับการจัดการ
น้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษเมืองพัทยา
เมื่อมีการยกเลิกระบบบำบัดน้ำเสียที่ซอยเกษมสุวรรณและซอยพัทยา 17 แล้ว เมืองพัทยา
ได้ใช้ระบบบำบัดน้ำเสียจากโรงงานแห่งใหม่นี้แทนไปจนกว่าระบบจะหมดอายุ ซึ่งคณะกรรมการ
สิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบกับแผนงานและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง และจัดสรรเงินอุดหนุน
จากกองทุนสิ่งแวดล้อมให้เมืองพัทยาในการดำเนินการโครงการดังกล่าว โดยมีวงเงิน 1,848.95
ล้านบาท รวมทั้ง ให้สำนักงานกองทุนสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุม
มลพิษ กรมการปกครอง เมืองพัทยา ฯลฯ พิจารณาเกี่ยวกับวงเงิน ระยะเวลา และวิธีชดใช้เงินคืน
กองทุนสิ่งแวดล้อมตามความเหมาะสมของสถานภาพทางการเงินการคลังของเมืองพัทยา
(กองกรรมาธิการ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, รายงานของคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา
เรื่อง การจัดการมลพิษ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติในส่วนที่
เกี่ยวกับแนวทางในการจัดการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ การประเมินผลการประกาศเขตควบคุม
มลพิษ เมืองพัทยา การประเมินผลโครงการฟื้นฟูบูรณะ เมืองพัทยา ผลกระทบจากการตัดถนนผ่าน
ป่าชายเลนและการวิเคราะห์ปัญหามลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมบริเวณใกล้เคียงวัดอโศการาม
จังหวัดสมุทรปราการ, น. 33. (อัดสำเนา)) ปัจจุบัน ระบบบำบัดน้ำเสียแห่งนี้ยังคงใช้งานอยู่และ
มีโครงการก่อสร้าง ปรับปรุง และขยายระบบรวบรวม และบำบัดน้ำเสียให้ครอบคลุมถึงโซนจอมเทียน
ด้วย (กองช่างสุขาภิบาล, ระบบการจัดการน้ำเสียเมืองพัทยา, <http://info.pattaya.go.th/km/
sanitarywork/DocLib9/ระบบการจัดการน้ำเสียเมืองพัทยา.aspx>X)
นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2543 ด้วยปริมาณน้ำเสียที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมืองพัทยาตัดสินใจ
ก่อสร้างโรงบำบัดเพิ่มเติมอีกแห่งในซอยวัดหนองใหญ่ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่อีกประมาณ 32.6
ตารางกิโลเมตร และเพิ่มความสามารถในการบำบัดน้ำเสียอีก ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณ
การก่อสร้างจากกองทุนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียจะได้รับการจัดสรรเงินทุนและแผนปฏิบัติการจาก
หน่วยงานของรัฐ แต่เมื่อมีการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียเสร็จแล้ว จำเป็นต้องมีระบบบริหารจัดการ
โรงบำบัดน้ำเสียต่อหลังจากนั้น เพื่อให้โรงบำบัดน้ำเสียสามารถเปิดดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม
ในช่วงเวลานั้นเมืองพัทยายังไม่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการโรงบำบัดขนาดใหญ่มาก่อน
จึงไม่มีการจัดเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและงบประมาณไว้ภายหลังจากก่อสร้างเสร็จสิ้น
หน่วยงานภาครัฐเพียงแต่จัดสรรเงินลงทุนให้แก่เมืองพัทยาในการก่อสร้างโรงบำบัด และกำหนด
เงื่อนไขให้เมืองพัทยาต้องสมทบเงินค่าก่อสร้างจำนวนร้อยละ 10 รวมทั้ง ส่งคืนเงินกองทุน
สิ่งแวดล้อมภายหลังจากที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 ปี