Page 71 - kpi13397
P. 71
กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
๓. เงื่อนไขทางเนื้อหาแห่งความชอบด้วย
กฎหมายของคำสั่งทางปกครอง
๓.๑ ความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่เป็น
ฐานแห่งอำนาจ
โดยทั่วไปแล้วคำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะเป็นการสร้างภาระ
หรือเป็นผลร้ายต่อผู้รับคำสั่งฯ กล่าวอีกนัยหนึ่งคำสั่งทางปกครองที่ก้าวล่วง
เข้าไปกระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคลผู้รับคำสั่งฯ จะต้องออกมาโดยมีฐานทาง
กฎหมายรองรับ ทั้งนี้ตามหลัก “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ” ดังที่ได้อธิบาย
มาข้างต้น กฎหมายที่กล่าวถึงนี้แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วหมายถึงกฎหมายระดับ
พระราชบัญญัติ อย่างไรก็ตามองค์กรนิติบัญญัติอาจตรากฎหมายระดับ
พระราชบัญญัติมอบอำนาจให้องค์กรฝ่ายปกครองออกกฎหมายลำดับรอง
(กฎกระทรวง ฯลฯ) หรือตรากฎหมายมอบอำนาจให้องค์การปกครองตนเอง
ออกกฎหมายองค์การบัญญัติ (เทศบัญญัติ ฯลฯ) หรือตรากฎหมายมอบ
อำนาจให้องค์กรอื่นใดตรากฎเกณฑ์ทางกฎหมายกำหนดเงื่อนไขการออก
คำสั่งทางปกครองได้ กฎหมายระดับพระราชบัญญัติหรือกฎหมายลำดับ
รองตลอดจนข้อบังคับอื่นใดที่ตราขึ้นโดยอาศัยฐานจากกฎหมายระดับ
พระราชบัญญัติย่อมจะต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญด้วย มิฉะนั้นย่อมถือว่า
คำสั่งทางปกครองที่ออกมาโดยอาศัยฐานทางกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ๓๙
๓๙ คำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องตั้งอยู่บนฐานของกฎหมาย
ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญนี้ หากไม่ต้องด้วยเหตุแห่งความเป็นโมฆะแล้ว ย่อมถือว่าเป็น
คำสั่งทางปกครองที่มีผลในทางกฎหมายจนกว่าจะถูกบอกล้าง ด้วยเหตุนี้หากบุคคล
ผู้รับคำสั่งทางปกครองไม่อุทธรณ์โต้แย้งในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คำสั่งทาง
ปกครองดังกล่าวอาจเป็นคำสั่งทางปกครองที่มีผลบังคับผูกพันได้เช่นกัน