Page 156 - kpiebook67015
P. 156
1
สำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเลิศด้านการเสริมสร้าง
เครือข่าย รัฐ เอกชน และประชาสังคม ของเทศบาลเมืองมหาสารคาม ได้แก่
โครงการชุมชนน่าอยู่สู่สังคมเป็นสุข
เทศบาลเมืองมหาสารคามร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่จัดประกวดชุมชนในเขตเทศบาล
เมืองมหาสารคาม ทั้ง 31 ชุมชน ภายใต้โครงการ “ชุมชนน่าอยู่สู่สังคมเป็นสุข” โดยมี
รางวัลเป็นแรงจูงใจด้วยการจัดสรรงบประมาณให้กับโครงการที่เสนอผ่านแผนชุมชนแม่บท
ของชุมชนที่ชนะการประกวด นอกเหนือจากโครงการที่เทศบาลต้องดำเนินการอยู่แล้ว โดยให้
ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดหลักเกณฑ์และตัวชี้วัดให้เกิดความเป็นธรรม ชุมชน
ยอมรับ และเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนา หลักเกณฑ์การประกวดกำหนดขึ้นเพื่อแก้ไข
ปัญหา 4 ด้าน คือ ด้านการบริหารจัดการที่ดีในมิติการมีส่วนร่วม ด้านคนมีสุขปลอดโรค
ปลอดภัย ด้านการอนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน ด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ซึ่งเป็นการกำหนด
หลักเกณฑ์การประกวดที่ก่อให้เกิดการพัฒนาที่จะช่วยแก้ไขปัญหาของชุมชนในมิติด้านสังคม
เศรษฐกิจ สุขภาวะอนามัย และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังนำเทคโนโลยีดิจิทัล Line Official
Account มาประยุกต์ใช้ในการสื่อสารเสนอปัญหาความต้องการและแนวทางการแก้ไขปัญหา
ของชุมชนอีกด้วย โดยมีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินงาน ดังนี้
1. เทศบาลเมืองมหาสารคาม เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานโดยกองสวัสดิการ
สังคม เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ/กิจกรรม งบประมาณ การประสานงาน การรายงาน
การติดตามและประเมินผล ส่วนราชการในสังกัดเทศบาล ทั้ง 9 ส่วน เป็นที่ปรึกษาให้กับ
ชุมชนในการพัฒนา การแก้ไขปัญหา และเป็นผู้ประสานกับชุมชนให้เกิดการรับรู้ข้อมูล
ข่าวสารผ่านช่องทางต่างของเทศบาล โดยกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดในการประเมินผลการปฏิบัติ
ราชการของส่วนราชการด้วย
2. สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดมหาสารคาม มีหน้าที่ส่งเสริม
สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกิดการพัฒนาในทุกด้าน เข้ามามีบทบาทร่วมเป็น
กรรมการตรวจติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน/โครงการ
3. คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สถาบันการศึกษา
ในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโดยให้ความรู้ทางวิชาการแก่ชุมชนออกแบบผลิตภัณฑ์
ชุมชนสนับสนุนและร่วมกิจกรรมพัฒนาด้านช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์
รางวัลพระปกเกล้า’ 66