Page 22 - kpiebook66030
P. 22
12 สรุปการประชุมวิชาการ
สถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 24
ความท้าทายของความมั่นคงใหม่กับประชาธิปไตย
กลุ่มย่อยที่ 5 ประชาธิปไตย โลกาภิวัตน์และการพลิกผันทางเศรษฐกิจ
(Democracy, Globalization, and Economic Disruption)
“โลกาภิวัตน์” เป็นหนึ่งในแรงเหวี่ยงที่มีพลังมหาศาลต่อเศรษฐกิจโลกในระดับ
มหภาค ในด้านหนึ่ง โลกาภิวัตน์ได้สร้างฐานการลงทุนที่เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตที่ซับซ้อน
ในระดับโลก (complex global supply chain) สร้างบริการทางการเงินโลกใหม่ (global
financial services) ที่เชื่อมโยงกันอย่างสลับซับซ้อน (complex interdependent) ลดต้นทุน
และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และช่วยให้บางพื้นที่ของโลกรอดพ้นจากความยากจน ทำให้
เกิดความมั่งคั่งและการเติบโต แต่ในอีกด้านหนึ่งโลกาภิวัตน์ได้สร้างความผันผวนทางเศรษฐกิจ
(economic disruption) วิกฤติเศรษฐกิจ (economic crisis) และการทำลายสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลในหลายประเทศได้ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เป็นเอกชน (privatization) และ
ลดนโยบายที่สนับสนุนสวัสดิการสังคม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้กระทบประชาชนตั้งแต่ระดับรากหญ้า
จนถึงชนชั้นกลาง ได้ส่งผลต่อความไม่พอใจในรัฐบาลและชนชั้นนำในหลายประเทศทั่วโลก
อ้างอิงจากจากการสำรวจของ The Economist Intelligence Unit (EIU) ทำให้เราเห็น
ความตกต่ำของดัชนีประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องในรอบ 16 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น
กระบวนการเลือกตั้งและความเป็นพหุนิยม (electoral process and pluralism) เสรีภาพของ
ประชาชน (civil liberties) การทำงานของรัฐบาล (the functioning of government)
การมีส่วนร่วมทางการเมือง (political participation) และวัฒนธรรมทางการเมือง (political
culture) ส่งผลให้เกิดการบิดเบือนคุณค่าในระบอบประชาธิปไตย และการสนับสนุนผู้นำแบบ
ประชานิยมที่มีแนวโน้มเป็นเผด็จการในทุกส่วนของโลก
ในกลุ่มย่อยที่ 5 นี้ เราต้องการศึกษาว่าความผันผวนในระเบียบเศรษฐกิจโลก
ที่ได้รับอิทธิพลจากโลกาภิวัตน์ ส่งผลอย่างไร หรือไม่ ต่อความไม่พึงพอใจของประชาชนที่มีต่อ
รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยทั้งที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา
เพราะเหตุใดประชาชนจึงยอมรับผู้นำแบบประชานิยมและอำนาจนิยมที่ต่อต้านค่านิยม
ในระบอบประชาธิปไตย และหากเป็นไปได้จะมีหนทางใดบ้างที่จะปฏิรูปโลกาภิวัตน์ในรอบนี้
ไม่ให้เป็นโลกาภิวัตน์ที่ตอบสนองเพื่อผลประโยชน์ของทุนนิยมโลก แต่เป็นโลกาภิวัตน์ที่เอื้อต่อ
ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคม
ประเด็นกลุ่มย่อย
1. ความผันผวนในระเบียบเศรษฐกิจโลกที่ได้รับอิทธิพลจากโลกาภิวัฒน์กับ
นโยบายของรัฐบาล ปัญหาเศรษฐกิจที่พลิกผันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จะมีผลต่อ
ประชาธิปไตยอย่างไร
2. ความพึงพอใจในระบอบประชาธิปไตยกับปัญหาเศรษฐกิจและการจัดการ
ทางเศรษฐกิจของรัฐบาลประชาธิปไตย