Page 64 - kpiebook65062
P. 64
จึงทรงอิทธิพลในระดับที่ลึกกว่ารูปแบบ (style) อย่างอาร์ต นูโว หรืออาร์ต เดโค และใน พ.ศ. ๒๔๗๔
พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (Museum of Modern Art) แห่งนครนิวยอร์คก็ได้จัดนิทรรศการ
“Modern Architecture: International Exhibition” ขึ้น รวบรวมข้อมูลผลงานสถาปัตยกรรม
สมัยใหม่ที่กำลังทวีอิทธิพลขึ้นทั่วโลก นับเป็นครั้งแรกที่สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ได้กลายเป็นแนวทาง
(movement) ที่มีรูปแบบ (style) อย่างชัดเจน
สรุป
ช่วงรัชกาลที่ ๗ เป็นรัชสมัยที่สั้นเพียงเก้าปีเศษ แต่ก็เป็นเก้าปีที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่สยาม
เข้าสู่สภาวะสมัยใหม่อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ อันเป็นผลจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ตลอดจน
แนวทางในการพัฒนาพระราชอาณาจักรสยามของรัชกาลก่อนหน้า ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๖
ดังปรากฏในพัฒนาการทางสถาปัตยกรรมในประเทศไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดทั้งสามรัชกาล
ดังกล่าวนั้น
ในด้านเศรษฐกิจ สถิติการนำเข้าวัสดุก่อสร้างและการบริโภค และงานศึกษาประวัติศาสตร์
เศรษฐกิจใหม่ ๆ ชี้ให้เห็นว่าช่วงต้นรัชกาล (พ.ศ. ๒๔๖๘ - พ.ศ. ๒๔๗๓) เป็นช่วงที่รัฐบาลพยายาม
ปรับงบดุลให้คืนสู่เสถียรภาพ ส่วนช่วงปลายรัชกาล (พ.ศ. ๒๔๗๔ - พ.ศ. ๒๔๗๗) เป็นช่วงสภาวะ
เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก โดยที่รัฐบาลได้รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไว้ได้ดี สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
จึงมีผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปน้อย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลานี้
เองก็เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ความคิด ความรู้เรื่องการเมืองการปกครอง ที่ส่งผลมาสู่
การเปลี่ยนแปลงการปกครองในพ.ศ. ๒๔๗๕ ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทาง
สังคมและวัฒนธรรมที่มีมาตั้งแต่รัชกาลก่อน จำนวนประชากรที่หนาแน่นมากขึ้นในเขตเมือง
การพัฒนาด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการ คมนาคมสมัยใหม่ ปัจจัยเหล่านี้เป็นบริบทให้แก่
สถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ ๗ ดังปรากฏหลักฐานในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐ
อาคารอุตสาหกรรม โรงพยาบาล โรงเรียน ตลาด ฯลฯ ที่ก่อสร้างด้วยวัสดุสมัยใหม่ เทคนิควิทยาการ
ก่อสร้างสมัยใหม่ จึงมีรูปลักษณ์สถาปัตยกรรมที่เรียบ เน้นสัจจะของวัสดุและโครงสร้าง ประโยชน์
ใช้สอยของอาคาร มาตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว อย่างไรก็ดี อีกด้าน
หนึ่งของการพัฒนาให้ทันสมัยนั้นก็คือการธำรงรักษาและเสริมสร้างอัตลักษณ์ความเป็นชาติ ดังปรากฏ
ในงานสถาปัตยกรรมเชิงสัญลักษณ์ เช่น ปฐมบรมราชานุสรณ์ (พ.ศ. ๒๔๗๕) ตึกวชิรมงกุฎ วชิราวุธ
วิทยาลัย (พ.ศ. ๒๔๗๕) เป็นต้น อาคารเหล่านี้มีวัสดุโครงสร้างสมัยใหม่ โดยมีรูปแบบประวัติศาสตร์
นิยม (Historicist) และรูปแบบอาร์ต เดโค (Art Deco) ดังจะได้อธิบายต่อไป