Page 63 - kpiebook65062
P. 63
สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture)
สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) เป็นปฏิกิริยาต่อต้านรูปแบบประวัติศาสตร์
นิยมที่ก่อตัวขึ้นในโลกตะวันตกในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ โดยอาศัยระบบการผลิตแบบ
อุตสาหกรรม เทคโนโลยีอาคารและวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ ก่อให้เกิดสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบ ปรัชญา
การออกแบบ และแนวความคิดร่วมกัน ได้แก่ การปฏิเสธรูปแบบสถาปัตยกรรมในประวัติศาสตร์
การใช้วัสดุก่อสร้างสมัยใหม่อย่างไม่ปิดบังสัจจะของโครงสร้างและวัสดุ การขึ้นรูปทรงสถาปัตยกรรม
โดยอาศัยเหตุผลทางหน้าที่ใช้สอย (functional design) หรือการรับรู้ทางสายตา (visual
perception) เป็นหลัก มากกว่าการยึดถือจารีตแบบแผนอย่างสถาปัตยกรรมคลาสสิค (Classicism)
หรืออารมณ์ความรู้สึกประทับใจของสถาปัตยกรรมโรแมนติค (Romanticism) โดยสถาปนิกสมัยใหม่
รุ่นแรกอย่างปีเตอร์ เบห์เรนส์ (Peter Behrens) ออตโต วากเนอร์ (Otto Wagner) และ
ออกุสต์ แปร์เรต์ (Auguste Perret) ได้ทดลองสร้างงานสถาปัตยกรรมที่ใช้โครงสร้างเหล็กหรือ
คอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งแต่เดิมใช้เฉพาะกับอาคารอุตสาหกรรมและงานวิศวกรรมโยธา มาทดลองสร้าง
รูปทรงใหม่ ๆ ที่เน้นศักยภาพและสัจจะของโครงสร้างสมัยใหม่นั้น
ในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ ต่อเนื่องถึงช่วงต้นรัชกาลที่ ๖ แนวทางสถาปัตยกรรมสมัยใหม่เริ่มก่อตัว
ชัดเจนขึ้น ในผลงานสถาปัตยกรรมและข้อเขียนเชิงทฤษฎีของสถาปนิกนานาชาติ เช่น วอลเตอร์
โกรเปียส (Walter Gropius) เลอ คอร์บูซิเอร์ (Le Corbusier) อดอล์ฟ โลส์ (Adolf Loos) ลุดวิก
มีส แวน เดอร์ โรห์ (Ludwig Mies Van der Rohe) ยา ยา เป โอวีด (J. J. P. Oud) และแกร์ริท
รีทเวล์ด (Gerrit Rietveld) เป็นต้น สถาปนิกเหล่านี้นำเสนอแนวทางใหม่ในการออกแบบ
สถาปัตยกรรมที่เป็นระบบมากยิ่งขึ้นไปอีก เน้นรูปทรงและปริมาตรเป็นกล่องเรียบ (cubic form)
ตลอดจนมวล (mass) ปริมาตร (volume) และพื้นที่ว่าง (space) ที่เลื่อนไหล มีที่มาจากประโยชน์
ใช้สอย แยกแยะให้เห็นความแตกต่างระหว่างพื้นที่ใช้สอย (functional space) กับพื้นที่สัญจร
(circulation) ตลอดจนความแตกต่างระหว่างโครงสร้างกับผนัง (free façade) และความต่อเนื่อง
ของพื้นที่ห้องต่าง ๆ (open plan) ที่มีพลวัตอย่างงานศิลปะสมัยใหม่ ต่างไปจากการใช้แนวแกน
ลำดับศักดิ์ของพื้นที่ ตลอดจนตาตะรางที่กำกับผังอาคารอย่างสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิค
ในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๒๐ เลอ คอร์บูซิเอร์ได้ทดลองออกแบบอาคารพักอาศัยจำนวนมาก
พร้อมกับตีพิมพ์งานเขียนเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและการผังเมืองสมัยใหม่ที่ทรงอิทธิพลยิ่ง
ขณะที่วอลเตอร์ โกรเปียสก็ได้เปิดโรงเรียนศิลปะ สถาปัตยกรรม และการออกแบบ ในนาม เบาเฮาส์
(Bauhaus) ที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านหลักสูตร ปรัชญาการศึกษา และตัวอาคารเรียน
ซึ่งออกแบบตามหลักการของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่โดยโกรเปียสเอง แนวทางสถาปัตยกรรมสมัยใหม่
2 สถาปัตย์ใต้ร่มฉัตรพระปกเกล้าฯ