Page 46 - kpiebook65062
P. 46
ถนนในประเทศสยาม
ในรัชกาลที่ ๗ มีการขยายโครงข่ายการคมนาคมทางบก คือ ถนน ทั้งถนนระหว่างพระนครและ
เมืองต่างๆ อันอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทาง กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม และถนนในพระนคร
อันอยู่ในความดูแลของกรมนคราทร กระทรวงมหาดไทย ถนนทั้งหลายนี้สร้างขึ้นเพื่อรองรับรถยนต์
และรถประเภทอื่นๆ ที่ทวีจำนวนขึ้นอย่างมหาศาล ในสมัยที่การสัญจรทางบกเริ่มมีความสำคัญ
ทัดเทียมกับการสัญจรทางน้ำ
สำหรับถนนทางหลวงนั้น กรมทาง กระทรวงพาณิชย์และคมนาคมได้ดำเนินการก่อสร้างมาแล้ว
ตั้งแต่รัชกาลที่ ๖ และดำเนินการต่อในรัชกาลที่ ๗ ได้แก่ถนนในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และภาคใต้ โดยมากเป็นการปรับปรุงและขยายถนนที่แต่เดิมสมุหเทศาภิบาลและผู้ว่าราชการจังหวัด
แต่ละจังหวัดก่อสร้างขึ้น ให้เป็นถนนแบบใหม่ที่มีมาตรฐานเดียวกัน เหมาะสมแก่การขนส่งสินค้า
ถนนเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดการคมนาคมขนส่งระหว่างจังหวัด โดยที่ราคาค่าขนส่งสินค้าก็ถูกลงด้วย เช่น
ในช่วง พ.ศ. ๒๔๖๙ - ๒๔๗๐ ถนนสาย ๓ ลำปาง - เชียงราย มีปริมาณรถยนต์เพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ
๘๕ ส่วนในช่วง พ.ศ. ๒๔๖๘ – ๒๔๖๙ ถนนสาย ๑๑ สงขลา - สะเดา มีปริมาณรถยนต์เพิ่มมากขึ้นถึง
๔๑
ร้อยละ ๑๘๖ “การที่ยวดยานพาหนะเพิ่มจำนวนขึ้นมากมายเช่นนี้ เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า
การก่อสร้างซ่อมแซม แลบำรุงรักษาถนน เป็นประโยชน์อันแท้จริงแก่ชาติ การถนนของประเทศสยาม
เป็นทั้งเครื่องมือสำหรับป้องกันพระราชอาณาจักร แลเครื่องมือสำหรับบำรุงเศรษฐกิจแลสำหรับ
ผดุงการศึกษาด้วย” ๔๒
ถนนสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งที่เริ่มก่อสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๗ และส่งผลอย่างยิ่งต่อการขยายตัวของ
พระนครในรัชกาลต่อ ๆ มา คือถนนที่เชื่อมพระนครกับเมืองบริวารโดยรอบ โดยทางทิศเหนือนั้น
ใน พ.ศ. ๒๔๗๒ รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายศาลากลางเมืองนนทบุรีมาที่ตำบลบางขวาง ใกล้กับ
เรือนจำใหญ่ที่ได้สร้างขึ้นใหม่ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดี
กระทรวงมหาดไทยจึงกราบบังคมทูลเสนอให้ตัดถนนกรุงเทพฯ - นนทบุรี เพื่อให้การจราจรระหว่าง
๔๓
กรุงเทพฯ กับนนทบุรีสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ทว่าเมื่อรัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ ให้สภาการคลังถวาย
ความเห็นเกี่ยวกับการสร้างถนนสายนี้ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ สภาการคลังมีมติว่ายังไม่ควร
ก่อสร้างถนนดังกล่าว เพราะขณะนั้นมีการก่อสร้างถนนหลายสายทางฝั่งธนบุรี เพื่อเตรียมรองรับ
การสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ใน พ.ศ. ๒๔๗๔ เกิดไฟฟ้าเสียที่เรือนจำกลาง
บางขวางบ่อยครั้ง สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตจึงกราบบังคมทูลยืนยัน
ถึงความจำเป็นที่จะสร้างถนนกรุงเทพฯ – นนทบุรีขึ้นอีกครั้ง จนรัฐบาลเริ่มก่อสร้างถนนสายดังกล่าว
ในช่วงปลาย พ.ศ. ๒๔๗๔ นั้นเอง ๔๔