Page 124 - kpiebook65062
P. 124
สรุป : สถาปัตยกรรมไทย
ขณะที่สภาวะสมัยใหม่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวปรากฏชัดในรูปแบบ
สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เทคโนโลยีและวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ ที่มีขึ้นคู่ขนานกับวิถีชีวิตเมืองที่ค่อย ๆ
เปลี่ยนแปลงไป แต่ก็ยังคงมีงานสถาปัตยกรรมสำคัญที่เป็นการทดลองรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย
ร่วมสมัย ที่สืบทอดแนวทางในการสงวนรักษาอัตลักษณ์ของความเป็นชาติผ่านสถาปัตยกรรม
ที่ผสานรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจารีตกับเทคโนโลยีและวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ
หอระฆังและหอนาฬิกา วชิราวุธวิทยาลัย ที่เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ตกแต่งลวดลายปูนปั้น
อย่างไทยประยุกต์ตามแนวทางของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ และ
การออกแบบปฐมบรมราชานุสรณ์ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ พระองค์นั้น ซึ่งผสานวัสดุ
ก่อสร้างหลายประเภท ทั้งคอนกรีตเสริมเหล็ก หิน และสำริด ประกอบเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูป
ที่มีขนาดใหญ่โต ตั้งอยู่ในที่ประชุมชนกว้างใหญ่ตามแนวคิดการออกแบบอนุสาวรีย์ของตะวันตก
การทดลองสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการสร้างอาคารสูงสองชั้นแบบไทย ซึ่งมีมาแล้วตั้งแต่
ปลายรัชกาลที่ ๕ และตลอดรัชกาลที่ ๖ ในรัชกาลที่ ๗ นี้มีอาคารเรียนที่เป็นตึกสองชั้น มุงหลังคา
จั่งสูงชันอย่างไทย ทั้งที่ตกแต่งด้วยเครื่องลำยองอย่างจารีต (โรงเรียนสุขุมาลธัมมุทิศ และตึกวชิรมงกุฎ
วชิราวุธวิทยาลัย) และอาคารที่มิได้ตกแต่งด้วยเครื่องลำยอง (ตึกวิทยาศาสตร์ และตึกจักรพงษ์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) สำหรับตึกวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น สถาปนิกคือ
พระสาโรชรัตนนิมมานก์ได้ออกแบบโดยซ่อนความซับซ้อนของหน้าที่ใช้สอยภายใน เช่น ห้องบรรยาย
แบบเป็นอัฒจันทร์ และห้องทดลองวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ภายใต้รูปลักษณ์อาคารภายนอกที่เป็น
แบบไทย มุงหลังคาจั่วสูงชั้นและทำชายคาปีกนกรอบ เพื่อกันแดดให้กับช่องเปิดหน้าต่างชั้นล่าง
เข้าชุดกับตึกจักรพงษ์ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน
จากตัวอย่างอาคารที่กล่าวมา เห็นได้ว่าสถาปนิกกำหนดรูปแบบสถาปัตยกรรมโดยคำนึงถึงที่ตั้ง
ซึ่งบางหลังแวดล้อมด้วยอาคารรูปแบบจารีต เช่น โรงเรียนสุขุมาลธัมมุทิศ (วัดพระเชตุพนวิมล
มังคลาราม) และพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ขณะที่บางหลังสร้างขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกับ
อาคารแบบไทยประยุกต์ที่มีมาก่อน เช่น ตึกวิทยาศาสตร์ และตึกจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตั้งอยู่ไม่ไกลจากตึกบัญชาการ ซึ่งออกแบบโดยนายเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ หรือตึกวชิรมงกุฎ
วชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังของอาคารหอสวด ที่ออกแบบโดยนายเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ เมื่อ
พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นต้น
11