Page 118 - kpiebook65062
P. 118
ตึกจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตึกจักรพงษ์ตั้งอยู่ที่บริเวณระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ เป็นอาคาร
ที่สร้างขึ้นโดยเงินที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ประทานให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในพ.ศ. ๒๔๗๔ เพื่อสร้างสโมสรสถานสำหรับนิสิตจุฬาฯ และเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งพระบิดา คือ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ผู้ทรงเอาพระทัยใส่ ทนุบำรุง
กิจการของมหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตราบจนเสด็จทิวงคต ใน พ.ศ. ๒๔๖๓
สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถาปนาขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๕ เป็นเรือนไม้สองชั้น
หลังใหญ่ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของถนนพญาไท ใกล้กับบริเวณหอพักนิสิต ถึง พ.ศ. ๒๔๗๔
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ได้เสด็จมาทอดพระเนตรกิจการของจุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย ทรงเห็นว่าสโมสรสถานที่มีอยู่นั้นไม่เป็นที่มั่นคงถาวร จึงบังเกิดพระกุศลจิตศรัทธา
ประทานเงินส่วนพระองค์ ๒๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ทางมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างสโมสรนิสิตใหม่ ใน
พ.ศ. ๒๔๗๕ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ จึงได้มอบหมาย
ให้พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) หัวหน้ากองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร และ
หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) ร่วมกันออกแบบอาคารหลังนี้ขึ้น ใช้เวลาในการก่อสร้าง
๘ เดือน งบประมาณค่าก่อสร้างอาคาร ๑๘,๙๐๐ บาท แล้วเสร็จและมีพิธีเปิดอาคารในวันที่
๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นองค์ประธานในพิธี
ตึกจักรพงษ์เป็นอาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กสูงสองชั้น มีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง
๑๒ เมตร ยาว ๑๔ เมตร ด้านทิศเหนือมีมุขโถง ชั้นบนเป็นชานมีลูกมะหวดรอบ ตรงกลางเป็นห้องโถง
ใหญ่ มีบันไดไม้สักขึ้นไปชั้นสองของอาคาร หลังคาจั่วไม้สองตับ มีกันสาดรอบ รองรับด้วยคันทวย
คอนกรีต มุงกระเบื้องเกล็ดเต่าแบบไทย ลดมุขด้านตะวันออกและด้านตะวันตก ที่หน้าบันประดับตรา
จักรกระบอง อันเป็นตราประจำพระองค์ในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ตัวอาคาร
มีการตกแต่งไม่มาก เน้นมุมอาคารและแนวเสาด้วยเสาเก็จ (pilaster) ย่อมุมสูงสองชั้น ตัดกับเส้นลวด
บัวที่ฐานอาคาร ช่องเปิดประตูหน้าต่างเป็นช่องสี่เหลี่ยมเรียบๆ เน้นมุขโถงทางเข้าเป็นพิเศษด้วย
เสาย่อมุม ที่ยอดตกแต่งเป็นหัวเม็ด มีลูกมะหวดราวกันตกแบบไทยประยุกต์
10