Page 115 - kpiebook65062
P. 115
สยามสมาคม
สยามสมาคมเป็นสถาบันเพื่อการค้นคว้าทางวิชาการที่ก่อตั้งขึ้นโดยผู้สนใจใฝ่รู้ในวิชาการต่างๆ
ทั้งชาวต่างประเทศและชาวสยาม โดยก่อตั้งขึ้นในพ.ศ. ๒๔๔๗ มีกิจกรรมทางวิชาการอันหลากหลาย
เช่น การปาฐกถาและการบรรยายทางวิชาการ การค้นคว้าวิจัยทางธรรมชาติวิทยา การสืบค้นข้อมูล
เอกสารประวัติศาสตร์จากแหล่งข้อมูลในต่างประเทศ เป็นต้น นับเป็นสมาคมเพื่อการค้นคว้าวิชา
ที่สำคัญ ทว่ายังไม่มีที่ทำการมั่นคงเป็นหลักแหล่ง จนถึงรัชกาลที่ ๗ ใน พ.ศ. ๒๔๗๑ สยามสมาคม
เช่าตึกของห้างบอมเบย์เบอร์ม่า (Bombay Burmah Trading Co.) ที่ถนนสาธรเป็นที่ทำการ แต่ถึง
เดือนกรกฎาคมก็ปรากฏว่าทางห้างบอมเบย์เบอร์ม่าต้องการอาคารคืนและจะยุติสัญญาเช่า กรรมการ
สยามสมาคมจึงติดต่อให้นายเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ (Edward Healey) ช่วยออกแบบอาคารที่ทำการสมาคม
ถาวรให้เพื่อใช้ในการระดมทุนก่อสร้าง แม้ว่ายังไม่ทราบสถานที่ตั้งแน่นอน ต่อมาในการประชุม
กรรมการสมาคม วันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๑ มีการนำเสนอแบบร่างอาคารสยามสมาคม เป็นห้อง
ขนาดกว้าง ๓๐ ฟุต ยาว ๖๐ ฟุต จุคนได้ประมาณ ๒๐๐ – ๒๕๐ คน (ในขณะนั้นสมาคมมีสมาชิก
ประมาณ ๒๐๐ คน) โดยนายฮีลีย์ประเมินราคาค่าก่อสร้างไว้ที่ประมาณ ๓๐,๐๐๐ – ๕๐,๐๐๐ บาท
อย่างไรก็ดี ขณะนั้นสยามสมาคมไม่มีเงินทุนเพียงพอ กรรมการจึงมีมติให้ใช้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นที่ทำการสมาคมชั่วคราวไปก่อน พร้อมกันนั้นทางกรรมการได้ตั้งอนุกรรมการระดมทุนเพื่อสร้าง
ที่ทำการถาวร (Building Fund) โดยได้นำแบบร่างอาคารสมาคมของนายฮีลีย์ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อ
รัชกาลที่ ๗ อีกด้วย
การระดมทุนสร้างอาคารสยามสมาคมดำเนินไปเป็นเวลาหลายปี จนถึงเดือนตุลาคม
พ.ศ. ๒๔๗๔ ก็ปรากฏว่านายเอ อี นานา เศรษฐีที่ดินรายใหญ่ ได้มีจิตกุศล บริจาคที่ดินที่บางกะปิ
จำนวน ๓ ไร่ให้สมาคมสร้างที่ทำการ สมาคมจึงสามารถดำเนินการโครงการก่อสร้างได้ โดยใน
การประชุมกรรมการสมาคมในวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ นายฮีลีย์ได้นำเสนอแบบอาคาร
ซึ่งมีห้องบรรยาย (lecture hall) ขนาดกว้าง ๓๕ ฟุต ยาว ๕๖ ฟุต พร้อมห้องประกอบอื่น ๆ เป็นราคา
ค่าก่อสร้างประมาณ ๒๘,๐๐๐ บาท และถ้ารวมงานระบบไฟฟ้า สุขาภิบาล ถนน และเรือนผู้ดูแล
สถานที่แล้ว งบประมาณจะตกอยู่ที่ ๓๔,๐๐๐ บาท ซึ่งทางกรรมการมีมติเห็นชอบ ให้นายฮีลีย์
ดำเนินการเปิดประมูลโครงการ จัดหาผู้รับเหมามาก่อสร้างได้เลย และแม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง
การปกครองขึ้นในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ แต่การก่อสร้างอาคารสยามสมาคมก็คงดำเนินไป
การก่อสร้างใช้เวลาเพียงประมาณ ๘ เดือนก็สำเร็จ สามารถเปิดใช้อาคารได้ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์
พ.ศ. ๒๔๗๖
10 สถาปัตย์ใต้ร่มฉัตรพระปกเกล้าฯ