Page 192 - kpiebook65057
P. 192
เมื่อทำการวิเคราะห์พัฒนาการของการเมืองภาคพลเมืองในประเทศไทย พบว่า
ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตการณ์ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมือง การเกิดรัฐประหาร
ปัญหาการฉ้อฉลเชิงนโยบาย ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหา
ด้านกระบวนการยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายที่เข้าไปกระทบกับ
ประชาชน ประชาชนจะออกมารวมตัวเพื่อแสดงความไม่พอใจ หรือต่อต้านอำนาจรัฐ
การออกมาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจรัฐ ปรากฎการณ์
การประท้วงในลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง อาทิ เหตุการณ์การขับไล่รัฐบาลเผด็จการ
ของขบวนการนิสิตนักศึกษา ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เหตุการณ์ทหาร
ตำรวจปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และใช้อาวุธเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมในวันที่
6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 การประท้วงรัฐบาลสุจินดาในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535
เหตุการณ์ขับไล่รัฐบาลทักษิณ พ.ศ. 2548-2552 เหตุการณ์ชุมนุมขับไล่รัฐบาล
ของกลุ่มคนเสื้อแดง ไปจนกระทั่งเหตุการณ์การขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ของขบวนการ
นักศึกษาและภาคประชาชนในปัจจุบัน
การศึกษาปรากฎการณ์และพัฒนาการการเมืองภาคพลเมืองตั้งแต่อดีต
จนถึงปัจจุบัน ทำให้เข้าใจถึงบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมที่มีส่วนอย่างมาก
ในการกำหนดทิศทางของขบวนการการเมืองภาคพลเมืองในสังคมไทยว่าจะขับเคลื่อน
ไปอย่างไร ในบางครั้งแม้ว่าการเมืองภาคพลเมืองอาจไม่สามารถที่จะเข้าไป
เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจรัฐ แต่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ผ่านมา
ก็มีผลต่อการตัดสินใจกำหนดนโยบาย และการกำหนดมาตรการภาครัฐได้
เช่นเดียวกัน อันเนื่องจากแรงกดดันทางสังคม การวิพากษ์วิจารณ์ และการชุมนุม
ของภาคประชาชนส่งผลต่อคะแนนนิยมและภาพลักษณ์ของรัฐบาล รวมถึงกระตุ้น
ให้สังคมเห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างได้ชัดเจนยิ่งขึ้น การเมืองภาคพลเมืองจึงเป็น
กลไกการตรวจสอบและวัดระดับความโปร่งใสของรัฐบาล ระบบราชการ องค์กรอิสระ
สถาบันตำรวจ ทหาร สถาบันการเมืองและการทำหน้าที่ของสถาบันประชาธิปไตย
ในแต่ละช่วงเวลาได้ค่อนข้างดี นอกจากนี้การมีส่วนร่วมของประชาชนยังเป็นตัวชี้วัด
การพัฒนาประชาธิปไตยอีกด้วย และยังมีส่วนช่วยให้การใช้อำนาจรัฐในการริดรอน
สิทธิ เสรีภาพของประชาชนไม่สามารถทำได้อย่างโจ่งแจ้ง หรือเข้มข้นเหมือนในอดีต
ที่ผ่านมา
137