Page 152 - kpiebook65057
P. 152
การมองอนาคตมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงที่จริงจังและมีความยั่งยืนทั้งในประเด็น
ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รวมทั้งประเด็นทางด้านสังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา
และนโยบายสาธารณะ การมองอนาคตจะมีความเป็นพหุวิทยาการมากกว่า
การที่จะเป็นวิทยาศาสตร์หรือสังคมศาสตร์โดยเฉพาะ นอกจากนี้การมองอนาคต
ไม่ได้จำกัดเพียงแค่การวิเคราะห์และคาดการณ์อนาคต แต่ยังรวมถึงการออกแบบ
อนาคต ในที่นี้จึงเป็นเรื่องของการหาทางเลือกที่หลากหลายและเป็นกระบวนการ
ที่มีหลายขั้นตอนใช้เวลานานและมีการทวนซ้ำ
การมองอนาคตไม่ใช่การวางแผนยุทธศาสตร์ไม่ใช่การคาดการณ์อนาคต
เพียงอย่างเดียว เครื่องมือในการมองอนาคตมีหลากหลาย ดังนั้นลักษณะของอนาคต
ในแต่ละช่วงเวลาจึงมีความสำคัญไม่ว่าจะเป็นอนาคตจากการคาดการณ์ โดยคาดการณ์
จากข้อมูลในอดีตและปัจจุบัน อนาคตที่มีความเป็นไปได้จากการวิเคราะห์เชิงปริมาณ
หรือเชิงสถิติ อนาคตที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยคิดว่าอาจเกิดขึ้นจากทฤษฎีและ
องค์ความรู้ที่มี อนาคตที่อาจเกิดขึ้นแต่ยังไม่มีทฤษฎี หรือองค์ความรู้ที่ได้รับ
การยอมรับเพื่อยืนยันโอกาสที่จะเกิดขึ้น หรืออนาคตที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่บน
พื้นฐานความจริง ไม่มีโอกาสเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงอนาคตที่พึงประสงค์
หรืออนาคตที่ควรจะเกิดขึ้นเป็นแนวคิดที่เกิดจากกระบวนการคิด
ทั้งนี้รูปแบบอนาคตที่ต้องเผชิญซึ่งแบ่งออกเป็นสามช่วงคือระยะสั้น
ระยะปานกลาง และระยะยาวซึ่งเป็นเรื่องของอนาคต จากการคาดการณ์อนาคต
ที่มีความเป็นไปได้ อนาคตที่สามารถเกิดขึ้นได้ และอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้ที่จะนำ
ไปสู่การพิจารณาอนาคตระยะยาว 20 ปีเป็นต้นไป ซึ่งมีทั้งอนาคตที่เป็นไปไม่ได้
หรืออนาคตที่พึงประสงค์
เครื่องมือในการมองอนาคตแต่ละเครื่องมือก็สามารถนำไปประสมประสาน
กับเครื่องมืออื่นเพื่อตอบโจทย์ในเฉพาะด้าน ขอบเขตที่กำหนดหรือเชิงประเด็นหรือ
นโยบายหรือการสร้างวิสัยทัศน์ทางการเปลี่ยนแปลงหรือการทดสอบนโยบายหรือ
กลยุทธ์รวมทั้งเทคโนโลยี การหาโจทย์และประเด็นในอนาคตล้วนเป็นสิ่งสำคัญ
97