Page 96 - kpi9942
P. 96
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกลาง จ.เชียงใหม่
นายเทียมทันอีกทางหนึ่งด้วย ทำให้นายเทียมทันได้รับคะแนนเสียงอย่างท้วมท้น อย่างไรก็ตาม
แม้ว่านายเทียมทันจะมาจากหมู่ 5 บ้านท่ากาน แต่ก็ไม่ได้คำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ของประชาชนใน
หมู่ 5 เท่านั้น
จากการที่นายเทียมทันทำงานคลุกคลีกับองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกลางมาตั้งแต่ต้น
และนับเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาสิบกว่าปีแล้วนั้น โดยระหว่างปี 2540 – 2544 ได้เป็น
กรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล ส่วนปี 2544 - ปัจจุบัน (ปี 2551) ดำรงตำแหน่งนายก
องค์การบริหารส่วนตำบล จึงทำให้นายเทียมทันมีความรู้และความเข้าใจสภาพแวดล้อมของพื้นที่
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกลางเป็นอย่างดี จนทำให้สามารถรู้จุดอ่อนจุดแข็งอันจะนำไปสู่การ
วางแผนกลยุทธเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืนต่อไป
อนึ่ง ปัจจัยการเมืองภายในพื้นที่ที่น่าจะพิจารณาอีกอันหนึ่ง คือ ความมีภราดรภาพ
(Fraternity) ระหว่างผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลกับผู้นำท้องถิ่นกลุ่มอื่นๆ ซึ่งในที่นี้หมายถึง
กำนันผู้ใหญ่ โดยภาพรวมนั้นความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารขององค์การบริหารส่วนตำบล
กับกำนันผู้ใหญ่บ้านที่มีเขตหมู่บ้านอยู่ในองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกลางนั้น เป็นความสัมพันธ์
ที่ดีและเอื้ออาทร สามารถประสานงานและทำงานร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
หรือแม้แต่หลังปี 2544 ที่กำนันผู้ใหญ่บ้านจะต้องพ้นจากการดำรงตำแหน่งใดๆ ในองค์การบริหาร
ส่วนตำบล แต่ทางกำนันผู้ใหญ่บ้านก็ไม่ได้มีข้อขัดเคืองแต่ประการใด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ
ประการที่หนึ่ง ผู้ดำรงตำแหน่งกำนันในขณะนั้นมาจากผู้ใหญ่บ้านซึ่งอยู่ในเขตเทศบาล
ตำบลบ้านกลาง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งผู้ที่มาเป็นประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล
บ้านกลาง ในช่วงปี 2540 – 2544 เป็นบุคคลที่มาจากหมู่บ้านนอกเขตองค์การบริหารส่วนตำบล
แต่เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้กำนันเป็นประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลโดย
ตำแหน่ง สถานการณ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกลางจึงได้เป็นเช่นตามกล่าวมาข้างต้น และ
เมื่อกำนันต้องพ้นจากตำแหน่งในองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกลางจึงไม่ได้มีปฏิกิริยาแต่อย่างใด
ประการที่สอง อาจเพราะองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกลางเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล
ขนาดเล็ก ที่มีจำนวนหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล เพียง 5 หมู่บ้าน ซึ่งมีพื้นที่ไม่กว้าง
ใหญ่และ/หรือมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่มากนัก ทำให้ไม่ใคร่จะมีความขัดแย้งในพื้นที่ระหว่าง
ผู้ใหญ่บ้านกับองค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งอาจจะด้วยลักษณะนิสัยของผู้คนในเขตชนบท
ซึ่งมีลักษณะของการประนีประนอม ถ้อยทีถ้อยอาศัยในการทำงานร่วมกัน
1
ถอดรหัส รางวัลพระปกเกล้า ’ 50