Page 25 - kpi21190
P. 25
25
เพิ่มสูงขึ้นไปด้วย ส่งผลทำให้ประเทศประชาธิปไตยต่าง ๆ ทั่วโลก ประสบกับปัญหา
“ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” (economic inequality) ตามมา ซึ่งนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรง
มากขึ้นทั้งในแง่ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท ระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับ
ภาคเกษตรกรรม รวมถึงระหว่างผู้มีรายได้มากและผู้มีรายได้น้อย จนเป็นที่มาของวลีใน
สังคมไทยที่ว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” ซึ่งวลีดังกล่าวนี้ สามารถยืนยันสภาพความเป็นจริงได้
จากรายงานของ The Credit Suisse Global Wealth Report ในปี พ.ศ.2561 ที่ระบุว่าไทย
เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก โดยคนไทยเพียงร้อยละ 1 ถือครองความมั่งคั่งถึง
ร้อยละ 66.9 ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ
สำหรับประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูง
ขึ้นนี้ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการสร้างประชาธิปไตยที่มั่นคง
(consolidated democracy) ในขณะเดียวกัน การที่ประชาธิปไตยไม่มีคุณภาพ ก็ส่งผลให้เกิด
ความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยสาเหตุสำคัญมาจากความไม่เป็นธรรมของ
กฎหมาย นโยบาย ทั้งในสาระและกระบวนการ กลไกของรัฐที่มีการจัดการทรัพยากรและ
อำนาจแบบรวมศูนย์ กระทั่งการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ การสะสมปัญหาที่ยาวนานส่งผล
ให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมตามมา แม้ว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทุกรัฐบาล
ได้พยายามที่จะผลักดันกฎหมาย นโยบาย รวมทั้งการปรับสมดุลของกลไกรัฐในเรื่องต่าง ๆ
เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่สามารถลดระดับความรุนแรงของ
ปัญหาได้เท่าที่ควร ดังนั้น ในการประชุมกลุ่มย่อยนี้ จึงมุ่งหวังให้วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและ
นักวิชาการ มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการวิเคราะห์สถานการณ์ สภาพปัญหา ตลอดจน
เสนอแนวทางการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจด้วยการปรับปรุงกลไกและกระบวนการ
ประชาธิปไตยให้มีคุณภาพจากประสบการณ์ของไทยและต่างประเทศที่จะนำไปสู่การสร้างสังคม
สันติสุขและเป็นธรรม
ประเด็นในกลุ่มย่อยที่ 3
๏ แนวทางการปฏิรูปกระบวนการประชาธิปไตยที่จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทาง
เศรษฐกิจ
๏ กระบวนการทางนโยบายที่มีประสิทธิภาพในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
๏ แนวทางการออกกฎหมาย/กลไกตามรัฐธรรมนูญที่ช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ทางเศรษฐกิจ
๏ การพัฒนาระบบการเมืองการปกครองที่สามารถผลักดันให้เกิดความเสมอภาคทาง
เศรษฐกิจ
๏ แนวทางการปฏิรูปกลไกรัฐที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ