Page 213 - kpi21190
P. 213
213
นอกจากนี้ จากการสำรวจความเปราะบางของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2549
ไทยได้คะแนน 7.2 พ.ศ. 2550 ได้คะแนน 8.0 พ.ศ. 2558 ได้คะแนนเต็ม 10 และ
พ.ศ. 2562 ได้คะแนน 9.4 จากคะแนนเต็ม 10 หนึ่งในตัวชี้วัดของการสำรวจ คือ
ความขัดแย้งในสังคมที่ทำให้รัฐทำหน้าที่ได้ไม่ดี ซึ่งนักวิชาการอธิบายสถานการณ์ของไทย
ที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2558 ว่า เกิดสภาวะสังคมแบ่งขั้วหรือแยกข้างอย่างชัดเจน (divided
society) โดยแสดงให้เห็นจากผลการเลือกตั้งที่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้คะแนนใกล้เคียงกัน
มาก และนำไปสู่ ความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมที่ไม่สามารถประนีประนอมหรือตกลง
พูดคุยกันได้
ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพราะทั่วโลกต่างยอมรับว่า
รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการแก้ไขความขัดแย้ง ประสบการณ์ของประเทศเยอรมันที่เคยมี
ความขัดแย้งภายในประเทศอย่างรุนแรง แต่สามารถก้าวข้ามผ่านวิกฤตมาได้ด้วยรัฐธรรมนูญ
โดยปลูกฝังให้ประชาชนเกิดความรักชาติผ่านรัฐธรรมนูญ (constitutional patriotism)
หรือปลูกฝังให้ประชาชนแสดงความรักชาติผ่านการร่วมกันสร้างระบบการเมืองโดยยึดคุณค่า
ของระบอบเสรีประชาธิปไตยผ่านการสร้างรัฐธรรมนูญ มิใช่ผ่านวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว
รวมทั้งได้บัญญัติหลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญสามประการ คือ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ความเสมอภาค และความสมดุลทางอำนาจของสถาบันการเมือง
แนวทางในการส่งเสริมให้รัฐธรรมนูญเป็นกลไกที่ช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพ
ประชาธิปไตยของไทย คือ การให้ความสำคัญกับกระบวนการยกร่างและเนื้อหาของ
รัฐธรรมนูญ กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยสามส่วน ได้แก่ การสรรหาผู้ยกร่าง
การยกร่างบทบัญญัติรายมาตรา รวมถึงการสอบถามความคิดเห็นของประชาชน และสุดท้าย
คือ การทำประชามติ ในทุกกระบวนการดังกล่าวจำเป็นต้องดึงทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วม
เพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญว่า ทุกคนมีความเห็นพ้องกันในการกำหนด
กติกาเช่นนี้ ซึ่งจะทำให้รัฐธรรมนูญกลายเป็นสัญญาประชาคม และจะไม่ถูกต่อต้านในภายหลัง
ในส่วนของเนื้อหาสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ ควรมุ่งเน้นหลักนิติธรรม (Rule of Law)
หากต้องการสร้างเสถียรภาพประชาธิปไตย ย่อมจำเป็นต้องสร้างหลักนิติธรรมให้เกิดขึ้น
เพราะทั้งสองเป็นหลักการที่ส่งเสริมกัน อีกทั้งหลักนิติธรรมยังเป็นหลักการที่ช่วยลด
ความเหลื่อมล้ำในตัว เพราะมันสร้างความเสมอภาค ความเท่าเทียม และเป็นการปกครอง
โดยใช้กฎหมายเป็นหลัก ก่อให้เกิดสังคมที่เป็นธรรม (justice society) นอกจากนี้
รัฐธรรมนูญที่ดีที่จะสามารถเป็นกลไกในการเสริมสร้างเสถียรภาพประชาธิปไตยได้ ควรมี
เสถียรภาพ (constitution stability) ซึ่งหมายถึง สามารถปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขให้สอดคล้อง
กับสภาวการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในขณะนั้น การประชุมกลุ่มย่อยที่ 2