Page 27 - kpi20767
P. 27
2
การก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยได้มีโอกาสกลายเป็นกลุ่ม
ประเทศที่มีรายได้สูง ประเทศไทยจึงต้องการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการภาครัฐจากเดิม “ทำมาก
ได้น้อย” มาเป็น “ทำน้อย ได้มาก” เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง
“นวัตกรรม” และเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วย
เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ภาคการเกษตรก็ต้องเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม
ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีหรือ Smart Farming โดย
เกษตรกรต้องร่ำรวยขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบผู้ประกอบการ เปลี่ยนจาก SMEs แบบเดิมไปสู่การ
เป็น Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูงเปลี่ยนจากรูปแบบบริการแบบเดิมซึ่งมีการ
สร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่บริการที่มีมูลค่าสูง และเปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้
และทักษะสูง (รัฐบาลไทย, 2561)
เป้าหมายประเทศไทย 4.0 จะบรรลุได้นั้น องค์การภาครัฐซึ่งเป็นกลไกในการขับเคลื่อน
ประเทศจำเป็นต้องมีการปรับปรุงการบริหารจัดการ โดยให้ความสำคัญกับหลักการของประชาธิปไตย
แบบมีส่วนร่วม การให้ความสำคัญกับประชาชนในฐานะพลเมืองของประเทศและเป็นหุ้นส่วนในการ
ดำเนินกิจกรรมและยึดมั่นในธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ อันประกอบไปด้วย หลักนิติธรรม หลัก
คุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิด และหลักความคุ้มค่า (ระเบียบสำนัก
นายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542, 2542: 26-27)
ที่ผ่านมา แม้ว่าประเทศไทยจะได้มีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการภาครัฐ ทว่าเมื่อมีการ
วิเคราะห์สถานการณ์ของประเทศไทยโดยคณะกรรมยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 (2561: 54-56) กลับ
พบว่า การดำเนินงานและบริหารจัดการภาครัฐยังขาดการบูรณาการ ขาดความต่อเนื่อง มี
ประสิทธิภาพต่ำ ขาดความโปร่งใส ขาดความรับผิดชอบและขาดธรรมาภิบาล ปัญหาคอร์รัปชันยังคง
พบได้เป็นวงกว้าง การบังคับใช้กฎหมายยังขาดประสิทธิผล กฎระเบียบจำนวนมากล้าสมัยไม่ทันกับ
การเปลี่ยนแปลงหรือแม้แต่ขัดแย้งกันเอง ประกอบกับมีความล่าช้าในการกระจายอำนาจ และการ
แบ่งความรับผิดชอบ ส่งผลให้การแก้ปัญหาและการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ
ขาดประสิทธิผลในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมิได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และยุทธศาสตร์
ของประเทศในระยะยาว ซึ่งส่งผลให้การบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหารให้ความสำคัญกับ
นโยบายพรรคการเมืองหรือนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลทำให้ขาดความ
ต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายสำคัญๆ และขาดบูรณาการทั้งในระดับนโยบายและการนำสู่การ
ปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นการสูญเสียโอกาสและสิ้นเปลืองทรัพยากรของประเทศ (สาธิต วงศ์อนันต์นนท์,
2556: 58)