Page 14 - kpiebook66030
P. 14

สรุปการประชุมวิชาการ
           สถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 24
       ความท้าทายของความมั่นคงใหม่กับประชาธิปไตย


           (freedom from fear and freedom from want) ดังนั้น ในบริบทยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลง
           ของกระแสโลกอยู่ตลอดเวลา ความมั่นคงใหม่นั้นจึงหมายรวมทั้งความมั่นคงของรัฐและ
           ความมั่นคงของมนุษย์และสังคม ที่เผชิญหน้ากับความท้าทายหรือภัยคุกคามทางความมั่นคง
           แบบร่วมสมัย (contemporary security threat) เช่น ภัยคุกคามทางไซเบอร์ (cyber threat)

           ภัยคุกคามทางความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)
           เป็นต้น ภัยคุกคามทางความมั่นคงแบบร่วมสมัยจึงมีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลง
           ตลอดเวลาตามสภาพของกระแสสังคมและสภาพแวดล้อมในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน สามารถ

           แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ความท้าทายทางธรรมชาติ (natural challenge) ที่เกิดขึ้น
           ตามธรรมชาติและยากที่จะควบคุม และความท้าทายทางสังคม (societal challenge) ที่เกิดขึ้น
           กับปัจเจกบุคคลและชุมชน ซึ่งล้วนส่งผลต่อการเมืองการปกครองของสังคมนั้น ๆ

                 ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น มีหลักการในการประกันและรับรองความเป็นอยู่

           ที่ดีของประชาชน (people well-being) และเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้น
           ตลอดจน ความรุนแรงและความขัดแย้งสามารถระงับได้ด้วยกระบวนการทางประชาธิปไตย
           ที่เคารพสิทธิและการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ จึงกล่าวได้ว่าประชาธิปไตย
           และความมั่นคงใหม่นั้นไปด้วยกันได้ดี เนื่องจากระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมีกลไก
           ที่ส่งเสริมการมีสิทธิเสรีภาพ คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การยึดหลักธรรมาภิบาล และ

           มุ่งให้ประชาชนมีสันติสุขและคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งสอดคล้องในการรับมือกับความมั่นคงใหม่ที่ให้
           ความสำคัญกับความมั่นคงของมนุษย์และสังคมมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ความมั่นคงใหม่และระบอบ
           การปกครองแบบประชาธิปไตยจึงมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันและกัน ทว่าภายใต้ความท้าทาย

           ใหม่ในปัจจุบัน ประชาธิปไตยและความมั่นคงใหม่นี้ กำลังเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่เกิดจาก
           ความท้าทายใหม่อย่างหลากหลายรูปแบบ และเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว เช่น การถูกโจรกรรม
           ข้อมูลทางไซเบอร์ การตกอยู่ในสภาวะขาดแคลนทรัพยากรต่าง ๆ การแพร่ระบาดของโรคอุบัติ
           ใหม่จากโรคติดเชื้อไวรัส การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก การเกิดความเหลื่อมล้ำ
           ในมิติต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงความก้าวหน้าและเติบโตของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น

           ปัญญาประดิษฐ์ สกุลเงินดิจิทัล หรือ ภัยคุกคามทางชีวภาพ เช่น เทคโนโลยีพันธุวิศวรรม
           ที่ทำให้สิ่งที่เคยมีอยู่ต้องถูกทดแทนหรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เป็นต้น

                 ฉะนั้น ในการเผชิญหน้ากับความท้าทายของความมั่นคงใหม่สำหรับประเทศไทยนี้

           ประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณา คือ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะสามารถดูแลและ
           จัดการกับความท้าทายของความมั่นคงใหม่อย่างไร และมีประเด็นความท้าทายของความมั่นคง
           ใหม่เหล่านี้อย่างไร รวมทั้ง ประเด็นเหล่านี้มีผลต่อการเป็นประชาธิปไตยของไทยหรือไม่
           อย่างไร และแนวทางการรับมือและการป้องกันที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร ในขณะเดียวกัน

           ประเทศไทยมีความพร้อมหรือไม่ที่จะปรับเปลี่ยนมุมมองและพัฒนาสังคมสู่สังคมแห่งโอกาส
           สังคมแห่งความสามารถ สังคมแห่งความเป็นธรรม และสังคมแห่งสันติสุข เพื่อเสริมสร้าง
           ความสามารถของประชาชนในประเทศ (human capacity) ให้สามารถรับมือกับความมั่นคงใหม่
   9   10   11   12   13   14   15   16   17   18   19