Page 201 - kpiebook65062
P. 201
สรุป : สถาปัตยกรรมสมัยใหม่
สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) ที่สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จ
พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมากเป็นอาคารสาธารณะขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณูปโภค
และสาธารณูปการ ได้แก่ โรงพยาบาล โรงงานรถไฟ โรงเบียร์ ตลาด สถานีตำรวจ และเรือนจำ อาคาร
เหล่านี้มีหน้าที่ใช้สอยเฉพาะ ทั้งยังจำเป็นต้องออกแบบก่อสร้างให้ได้มาตรฐานตามอย่างอาคาร
สมัยใหม่ ทั้งในแง่การใช้สอย การสัญจร การระบายอากาศ ความมั่นคงเชิงโครงสร้าง ตลอดจน
การป้องกันอัคคีภัย จึงเหมาะสมกับรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่เน้นความเรียบง่าย ใช้วัสดุก่อสร้าง
สมัยใหม่อย่างไม่ปิดบังสัจจะของโครงสร้างและวัสดุ และการขึ้นรูปทรงสถาปัตยกรรมโดยอาศัยเหตุผล
ทางหน้าที่ใช้สอย
สำหรับการวางผังอาคารตามหลักการของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ
แบบร่างโรงพยาบาลกลางของนายเบเกอแลง ที่มีผังแบบอสมมาตร ออกแบบโดยคำนึงถึงประโยชน์
ใช้สอย การสัญจรภายในโรงพยาบาล และการระบายอากาศเป็นหลัก โดยสอดคล้องกับรูปทรงของ
ที่ดินที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ส่วนการแสดงโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กออกมาในรูปทรงภายนอก
ของอาคาร เห็นได้ชัดในการทำหลังคาตัด (flat roof) ที่อาคารที่ทำการพัสดุ กรมรถไฟหลวง
สถานีตำรวจนครบาลสามแยก และตึกนอนพยาบาล ศิริราชพยาบาล การทำกันสาดคอนกรีต
เสริมเหล็กเป็นแผ่นบางที่อาคารต่าง ๆ ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และศิริราชพยาบาล โครงการ
โรงพยาบาลกลาง สถานีตำรวจนครบาลสามแยก และตึกนอนพยาบาล ศิริราชพยาบาล และ
การแสดงโครงสร้างระบบเสาและคาน (skeletal structure) ออกมาที่รูปด้านภายนอก โดยเฉพาะ
ที่อาคารที่ทำการพัสดุ กรมรถไฟหลวง และตลาดฉัตรไชย
หากพิจารณาด้านผู้ออกแบบ เห็นได้ว่าสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาท
สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นมีทั้งที่ออกแบบโดยสถาปนิกชาวตะวันตก คือนายเฟาสโต ปิสโตโน
(Fausto Pistono) กับนายชาลส์ เบเกอแลง (Charles A. Béguelin) และสถาปนิกชาวไทย
คือพระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) แสดงให้เห็นถึงความนิยมร่วมในรูปแบบสถาปัตยกรรม
สมัยใหม่ ที่ตอบสนองทั้งความประหยัด มั่นคงแข็งแรง ประโยชน์ใช้สอย และภาพลักษณ์ของ
ความทันสมัย ที่มีมาตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว
190 สถาปัตย์ใต้ร่มฉัตรพระปกเกล้าฯ