Page 132 - kpiebook65062
P. 132
ตำหนักทิพย์
ตำหนักทิพย์ เป็นตำหนักที่ประทับที่พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา โปรดให้
สร้างขึ้นที่ริมถนนราชวิถี ในบริเวณสวนนอก ทางทิศเหนือของพระราชวังดุสิต หลังการเปลี่ยนแปลง
การปกครอง ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ “จึงโปรดให้สถาปนิกเริ่มเขียนแบบแปลนพระตำหนักใหม่ ได้ทรงเลือก
นายฮีลลี่ (Healy) สถาปนิกชาวตะวันตกที่กำลังมีชื่อเสียงอยู่ในประเทศไทย เป็นผู้ออกแบบ
พระตำหนัก . . . นายฮีลลี่สถาปนิกเอกผู้นี้มีผู้ช่วยชื่อนายเกเนีย ซึ่งเป็นชาวตะวันตกเช่นกัน หากพูด
ภาษาไทยได้คล่องแคล่ว เสด็จพระองค์อาทรฯ จึงทรงสื่อภาพตำหนักที่ต้องพระประสงค์ให้นายเกเนีย
ฟังว่าโปรดให้มีลักษณะเหมือนบ้านมนังคศิลาของพระยาอุดมราชภักดี (โถ สุจริตกุล) แต่แทนที่จะมี
สองปีกให้ตัดทอนออกเหลือไว้เพียงปีกเดียวและไม่จำเป็นต้องมีห้องมากมายนัก ทรงให้เหตุผลว่า
“ฉันตัวคนเดียว ไม่รู้จะสร้างบ้านใหญ่โตไปทำไม”” ๑๔
ตำหนักทิพย์เริ่มต้นก่อสร้างในวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ราคาค่าก่อสร้างและตกแต่ง
ภายในประมาณ ๖๐,๐๐๐ บาท ตัวตำหนักเป็นอาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก สูงสองชั้น
มีผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มุงหลังคาปั้นหยาผืนใหญ่ มีมุขรอบตัวอาคาร ด้านหน้าทำมุข
ที่เทียบรถที่นั่ง ห้องมุขชั้นบนเป็นห้องพระและพระบรมอัฐิ ตกแต่งผนังเป็นพิเศษด้วยผนังแบบครึ่งไม้
ครึ่งปูน (half-timber) มุงหลังคาปั้นหยาผสมจั่ว ด้านข้างตำหนักด้านหนึ่งทำมุขเฉลียงครึ่งวงกลม
มีเสากลมรองรับระเบียงชั้นบน ตอนล่างทำเป็นขั้นบันไดลงมาสู่สนามข้างตำหนัก อีกด้านหนึ่งทำเป็น
มุขชั้นเดียว ยื่นยาวออกมาจากตัวอาคาร ด้านบนทำหลังคาปั้นหยาผสมจั่ว ส่วนด้านหลังตำหนัก
ทำเฉลียงใหญ่ ยาวเท่าตัวตำหนัก เฉลียงชั้นบนทำร้านต้นไม้โปร่งคลุม ตำหนักทิพย์มีรูปแบบ
สถาปัตยกรรมแบบทิวดอร์ (Tudor) ประยุกต์ให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนแบบแผนชีวิต
ความเป็นอยู่ของชาวสยาม การทำหลังคาผืนใหญ่ ชายคายื่นยาว ปรับองศาหลังคาตอนล่างให้ดู
อ่อนช้อย ตลอดจนการทำหน้าต่างเล็ก (dormer) เพื่อระบายความร้อนในผืนหลังคา และเพื่อสร้าง
จุดสนใจ ล้วนเป็นกลวิธีในการออกแบบที่นายฮีลีย์ได้ทดลองใช้ในผลงานอาคารพักอาศัยของตน
มาโดยตลอด และประสบผลสำเร็จงดงามที่ตำหนักทิพย์แห่งนี้ ในช่วงปลายของการประกอบวิชาชีพ
สถาปนิกในสยาม
121