Page 135 - kpiebook65062
P. 135
สถาปัตยกรรมคลาสสิค
สถาปัตยกรรมคลาสสิค เป็นแนวทางหนึ่งในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบประวัติศาสตร์นิยม
(Historicist style) ที่ทรงพลังอย่างยิ่งในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ต่อเนื่องถึงช่วงต้นคริสต์
ศตวรรษที่ ๒๐ เป็นภาษาสากลของสถาปัตยกรรมในโลกอาณานิคม ทั้งในทวีปแอฟริกา อเมริกา
และเอเชีย ด้วยเป็นเครื่องมือที่มหาอำนาจตะวันตกใช้ประกาศความเป็นเจ้าเป็นใหญ่ (superiority)
เหนือผู้ถูกปกครอง มีรูปแบบซึ่งมีที่มาจากประวัติศาสตร์ตะวันตก ต่างไปจากสถาปัตยกรรมพื้นเมือง
ของผู้ถูกปกครองอย่างชัดเจน
อิทธิพลของรูปแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิคในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ต่อเนื่องถึงช่วงต้น
คริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ นี้เอง ที่ส่งผลโดยตรงต่อรูปแบบสถาปัตยกรรมอย่างตะวันตกในสยาม ในช่วง
รัชกาลที่ ๕ ท่ามกลางบริบทของการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกในทวีปเอเชีย ต่อเนื่องจนถึง
รัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ อย่างไรก็ดีเมื่อกระแสสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ทวีกำลังขึ้นในช่วงต้นคริสต์
ศตวรรษที่ ๒๐ ในทวีปยุโรป รูปแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิคก็เริ่มเสื่อมความนิยมลงทีละน้อย ทว่า
หลักการในการออกแบบของโรงเรียนศิลปากร (Ecole des Beaux-Arts) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ก็ยังคงทรงพลังอยู่มาก โดยเฉพาะในอาคารสถาบัน อาคารราชการ ที่ต้องการเพียงรูปทรงอาคารที่สง่า
มั่นคง ผังอาคารที่ตรงไปตรงมา มีรูปร่างของพื้นที่ว่างที่ดี ตลอดจนรายละเอียดสถาปัตยกรรมที่ประณีต
และเป็นที่คุ้นเคยของสาธารณชน นำไปสู่รูปแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิคลดทอน (Stripped
Classicism) คือรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ยังคงเค้าโครง รูปทรง และสัดส่วนของสถาปัตยกรรมคลาสสิค
ทว่าลดทอนเครื่องตกแต่งและรายละเอียดอาคารลงไปจนเหลือเท่าที่จำเป็น อันเป็นรูปแบบที่นิยมใช้ใน
อาคารสาธารณะทั่วๆ ไปในโลกตะวันตก โดยเฉพาะในช่วงเวลาสองทศวรรษระหว่างสงครามโลก
ครั้งที่ ๑ และสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงหมายรวมถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย
รูปแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิคลดทอนนี้เป็นที่นิยมมาก เพราะสามารถผสมผสานเทคนิควิทยาการ
ก่อสร้างสมัยใหม่ เข้ากับความสง่างามของสถาปัตยกรรมคลาสสิค ทั้งยังประหยัดค่าก่อสร้างเมื่อ
สามารถลดทอนรายละเอียดเครื่องตกแต่งสถาปัตยกรรมที่ไม่จำเป็นออกไปด้วย
12 สถาปัตย์ใต้ร่มฉัตรพระปกเกล้าฯ