Page 3 - kpiebook63019
P. 3
คำนำ
โครงการวิจัยเรื่อง “การประเมินผลการดำเนินงานของรัฐสภาไทย
(สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) โดยใช้เกณฑ์และตัวชี้วัดของสหภาพรัฐสภา
(Inter-Parliamentary Union : IPU)” ซึ่งได้พัฒนาเกณฑ์ชี้วัดจากโครงการวิจัย
เรื่องสถาบันการเมืองกับการพัฒนาประชาธิปไตย : ศึกษากรณีการดำเนินงานของรัฐสภา
ตามเกณฑ์และตัวชี้วัดของสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union : IPU)
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการดำเนินงานของรัฐสภาไทย และนำเสนอ
ผลการประเมินรวมถึงข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานของรัฐสภาแก่สมาชิกรัฐสภา
โดยมุ่งศึกษาเฉพาะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 6 ของ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งทำหน้าที่ตั้งแต่
วันที่ 31 กรกฎาคม 2557 และสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่
21 พฤษภาคม 2562
สถาบันพระปกเกล้า หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารายงานฉบับนี้ จะเกิดประโยชน์ต่อรัฐสภา
ในการใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองเพื่อทำหน้าที่ “การเป็นตัวแทนของปวงชน”
“การตรวจสอบฝ่ายบริหาร” “การทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ” และ “การมีส่วนร่วมใน
นโยบายระหว่างประเทศ” อย่างมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานของ “ความสำนึกรับผิดชอบ”
และ “ความโปร่งใส และการเข้าถึงได้” สอดรับกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและ
หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และสอดรับกับแนวคิด “รัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย”
ซึ่งเป็นคุณค่าที่สหภาพรัฐสภาระบุให้พึงยึดเป็นมาตรฐานสากลสำหรับรัฐสภาทั่วโลก
ทั้งนี้ ผลลัพธ์ (Outcome) ของการปรับปรุงและพัฒนาการทำหน้าที่ของรัฐสภาไทย
ไม่เพียงแต่จะนำไปสู่การเป็นที่ยอมรับของนานาชาติที่มีความก้าวหน้าในการปกครอง
ระบอบประชาธิปไตย และผลลัพธ์ที่สำคัญที่สุด คือการที่สมาชิกรัฐสภาได้ใช้อำนาจ
นิติบัญญัติแทนปวงชนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริง อันเป็นเจตนารมณ์
สูงสุดของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และเป็นหนทางไปสู่การพัฒนาประเทศ
อย่างยั่งยืน
สถาบันพระปกเกล้า