Page 15 - kpi20470
P. 15
1. ประชาธิปไตยท้องถิ่น:
บทสำรวจความเป็นประชาธิปไตยท้องถิ่นไทย
ทุกวันนี้การพูดถึงคำว่า ประชาธิปไตยท้องถิ่น หรือ Local Democracy ได้กลายเป็น
เรื่องที่สำคัญสำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะหากจะพัฒนาประชาธิปไตย
ในระดับประเทศให้ก้าวหน้าได้นั้น จะต้องเริ่มจากการวางรากฐานการพัฒนาประชาธิปไตย
ในระดับท้องถิ่นเสียก่อน โดยยึดหลักการกระจายอำนาจและมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของ
ประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การเลือกตั้ง การประท้วง การถอดถอน
หรือการเรียกร้องเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ครอบคลุมไปถึง
การมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมสร้างสรรค์ท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้า
เมื่อการปกครองท้องถิ่นเป็นเรื่องของระบบการเมือง จึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า
การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
หลักการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีความเป็นอิสระและสามารถ
ปกครองตนเองได้ หรืออาจกล่าวได้ว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญ
อันจะนำไปสู่การพัฒนาการเมืองการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยในระดับประเทศ
เพราะการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นเป็นเสมือนตัวชี้วัดหนึ่งที่สามารถบ่งชี้ได้ว่า การพัฒนา
ประชาธิปไตยท้องถิ่นที่ผ่านมานั้นประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลว หรือเป็นเพียง
สัญลักษณ์ของหลักการที่สวยหรูเท่านั้น ดังนั้นการส่งเสริมให้เกิดประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น
จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
แล้วเหตุใดการปกครองท้องถิ่นจึงมีความสำคัญสำหรับการวางรากฐานประชาธิปไตย
ของประเทศ? คำตอบก็เพราะว่า...
î การปกครองท้องถิ่น คือรากฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
เนื่องจากการปกครองท้องถิ่นเปรียบเสมือนโรงเรียนฝึกสอนรูปแบบการปกครองในระบอบ
ประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะประชาธิปไตย
อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นด่านแรก
สำหรับประชาชนในการเรียนรู้และใช้ดุลยพินิจเลือกตัวแทนที่มีความเหมาะสมเข้าไปทำหน้าที่
บริหารท้องถิ่นแทนประชาชน จากนั้นประชาชนจะได้เรียนรู้เรื่องสิทธิ หน้าที่ และความ
รับผิดชอบในฐานะพลเมืองของท้องถิ่นนั้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นการปูทางไปสู่การเรียนรู้ระบอบ
ประชาธิปไตยในระดับประเทศต่อไป
î การปกครองท้องถิ่น คือเวทีสำหรับการสร้างผู้นำทางการเมืองในอนาคต เนื่องจาก
การเมืองในระดับท้องถิ่นเป็นเวทีการเมืองขนาดเล็กที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสนใจการเมือง
ได้แสดงศักยภาพและเรียนรู้ความเป็นนักการเมือง ซึ่งการได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้นำทาง
การเมืองในระดับท้องถิ่นจะช่วยฝึกฝนให้ผู้ที่ได้รับคัดเลือก สามารถเรียนรู้ทักษะการบริหาร
การเป็นผู้นำ และความเชี่ยวชาญทางการเมือง ปัจจุบันมีผู้นำท้องถิ่นจำนวนมากที่สามารถ
ก้าวไปสู่เวทีการเมืองระดับประเทศได้สำเร็จ จนกลายเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงในระดับ
ประเทศ
สถาบันพระปกเกล้า