Page 106 - kpi16531
P. 106
1.1 หลักการและเหตุผล
การเงินการคลังถือเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพทางการเงินการคลังย่อมสามารถจัดบริการ
สาธารณะที่ตอบสนองต่อความต้องการและความจำเป็นของประชาชนในพื้นที่ได้ รวมทั้ง
ยังสามารถสร้างสรรค์การบริการสาธารณะในรูปแบบใหม่ๆ หรือมีนวัตกรรมในการบริการ
สาธารณะ เพื่อพัฒนาการบริการสาธารณะให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่า การมี
ศักยภาพทางการเงินการคลังเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้องค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่นสามารถจัดบริการสาธารณะได้สำเร็จลุล่วงและมีคุณภาพ นอกจากนี้การที่
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีศักยภาพทางการเงินการคลังที่เข้มแข็ง ซึ่งในกรณีนี้
หมายถึงการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้เพียงพอต่อการจัดบริการสาธารณะ
ยังแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการกระจายอำนาจทางการคลัง องค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพทางการเงินการคลังที่เข้มแข็งจะสามารถบริหารการเงินการคลัง
ได้อย่างอิสระ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมี
อำนาจในการตัดสินใจ (Local Sovereignty) ใช้จ่ายเพื่อการปฏิบัติภารกิจหน้าที่โดยใช้
งบประมาณจากแหล่งรายได้ของตนได้อย่างเต็มที่ และมิต้องพึ่งพิงงบประมาณอุดหนุน
จากรัฐบาลมากนัก (ดวงมณี เลาวกุล, 2552: 17)
สำหรับการปกครองท้องถิ่นของไทย การกระจายอำนาจทางการคลังสู่ท้องถิ่น
ที่นำไปสู่การเพิ่มศักยภาพทางการเงินการคลังให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกิดขึ้น
อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนพร้อมกับการกระจายอำนาจหน้าที่และทรัพยากรบุคคลให้แก่
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 โดยรัฐธรรมนูญ