Page 209 - kpiebook65062
P. 209

พัฒนาการที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ ๗ คือการพัฒนาสถาบันการศึกษา
                   ด้านการช่าง ทั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนช่างก่อสร้าง
                   อุเทนถวาย ซึ่งต่างก็มีจุดกำเนิดที่โรงเรียนเพาะช่าง อันได้สถาปนาขึ้นไว้ตั้งแต่รัชกาลที่ ๖ ตามนโยบาย

                   ของรัฐในการพัฒนาวิชาชีพช่างแขนงต่าง ๆ ความเป็นวิชาชีพนั้นยังปรากฏชัดในการตั้งสมาคมวิชาชีพ
                   คือสมาคมสถาปนิกสยาม ที่มุ่งเผยแพร่บทบาทความรับผิดชอบของสถาปนิกสู่สังคม การผดุงมาตรฐาน

                   การประกอบวิชาชีพ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ผ่านวารสารของสมาคมวิชาชีพ อันเป็นผลจาก
                   การผลักดันของสมาชิกรุ่นแรก ๆ  ความเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ มิตินี้เป็นรากฐานของการประกอบ
                   วิชาชีพสถาปนิกสืบมาจนทุกวันนี้


                         อย่างไรก็ดี ข้อควรพิจารณาประการหนึ่ง คือผลกระทบของพัฒนาการทางสถาปัตยกรรมในช่วง
                   รัชกาลที่ ๗ นี้เอง การปรับเข้าสู่สภาวะ “สมัยใหม่” นั้นย่อมเป็นส่วนหนึ่งของพลวัตการเปลี่ยนแปลง

                   ในโลก ทว่าผลกระทบที่มีต่อสภาวการณ์ท้องถิ่น ในชีวิตประจำวันของผู้คนนั้น ย่อมมีสืบเนื่องต่อมา
                   อย่างมาก ชนชั้นนำสยามตระหนักดีถึงความยากลำบากในการ “พัฒนา” ให้ทัดเทียมมาตรฐาน
                   ตะวันตก โดบที่ยังคงธำรงรักษาอัตลักษณ์ความเป็นชาติไว้ ดังปรากฏมาแล้วในสถาปัตยกรรมพระที่นั่ง

                   จักรีมหาปราสาทในรัชกาลที่ ๕ และการสถาปนาโรงเรียนเพาะช่าง เพื่อ “เอาพรรณพืชของเราเอง
                   มาปลูกลงในพื้นแผ่นดินของเรา แล้วบำรุงให้เติบโตงอกงาม” ตามความในพระราชดำรัสวันเปิด

                   โรงเรียนนั้น เมื่อถึงรัชกาลที่ ๗ ความกังวลของชนชั้นนำในการรักษาเสถียรภาพของสถาบัน อัตลักษณ์
                   ของชาติ ควบคู่ไปกับการพัฒนาให้ทันสมัย ก็ปรากฏชัดในปฐมบรมราชานุสรณ์ ที่สร้างเป็นพระบรมรูป
                   รัชกาลที่ ๑ ทรงเครื่องราชภูษิตาภรณ์อย่างจารีตประเพณี ประทับนั่งในซุ้มจรณัมที่ผสมผสานรูปแบบ

                   อาร์ต เดโคกับสถาปัตยกรรมไทยประเพณีและสถาปัตยกรรมขอม เบื้องหลังเป็นสะพานโครงสร้างเหล็ก
                   อย่างทันสมัย หรืออาคารศาลาเฉลิมกรุง ที่เป็นอาคารสาธารณะขนาดใหญ่ ปรับอากาศทั้งหลัง

                   ออกแบบโดยภายในเน้นประโยชน์ใช้สอย ภายนอกเน้นรูปแบบความหรูหราของอาร์ต เดโค แต่ก็ยัง
                   ตกแต่งด้วยลวดลายโลหะฉลุที่สะท้อนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์และนาฏศิลป์อย่างจารีต ทั้งหมดนี้
                   ออกแบบและก่อสร้างโดยสถาปนิกและวิศวกรชาวไทย ที่ได้รับการศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และ

                   วิศวกรรมศาสตร์ในโลกตะวันตก มี “ความเจริญในวิชาช่าง” ที่ไม่น้อยหน้าชาติใดในทวีปเอเชีย

                         จากเอกสารเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างต่าง ๆ เห็นได้ว่าชนชั้นนำสยามในครั้งนั้นตระหนักถึงทั้ง

                   อำนาจและความเสี่ยงของความเป็น “สมัยใหม่” อย่างไรก็ดี พึงเข้าใจว่า “สถาปัตยกรรมสมัยใหม่”
                   ในนิยามของช่วงรัชกาลที่ ๗ นั้น คงมิใช่สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) ที่เป็นที่
                   เข้าใจกันทุกวันนี้ ทว่าเป็นความเข้าใจรวม ๆ ถึงสถาปัตยกรรมที่ลดทอนเครื่องตกแต่ง (Stripped

                   Classicism) หรือมีรูปแบบอย่างอาร์ต เดโค ซึ่งมีลักษณะร่วมในความเรียบ ลดทอนเครื่องตกแต่ง





             198     สถาปัตย์ใต้ร่มฉัตรพระปกเกล้าฯ
   204   205   206   207   208   209   210   211   212   213   214