Page 208 - kpiebook65062
P. 208

สรุป :

                                                              สถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๗







                            รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแม้จะเป็นช่วงเวลาที่สั้น หากจะเทียบกับ
                      รัชกาลก่อน ๆ ทว่าก็มีพัฒนาการในงานสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นคู่ขนานไปกับความเปลี่ยนแปลง

                      ในบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครองในช่วงรัชสมัย การขยายตัวของเมือง จำนวน
                      พลเมืองที่ทวีสูงขึ้น ตลอดจนพัฒนาการในสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ การรับเอาระบบการผลิต

                      วัสดุก่อสร้างตามแบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ตลอดจนวิธีการก่อสร้างสมัยใหม่ ล้วนเป็นปัจจัยเบื้องหลัง
                      การก่อสร้างอาคารจำนวนมากที่มีรูปแบบสมัยใหม่ที่เรียบง่าย ลดทอนลงกว่าสถาปัตยกรรมในช่วง
                      รัชกาลก่อน ๆ การสร้างอาคารอย่างโรงกรองน้ำ ประปาสถานสามเสน ที่ทำการพัสดุ กรมรถไฟหลวง

                      ตึกจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเบียร์บุญรอดบริวเวอรี่ หรือศาลาเฉลิมกรุง  ล้วนแสดงให้เห็น
                      ถึงความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพเมืองกรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันทั้งภายในเขตเมืองเก่า และ

                      พื้นที่เมืองใหม่ที่เปิดขึ้น โดยวิสัยทัศน์ของการขยายตัวของพระนครออกไปสู่จังหวัดข้างเคียง ได้แก่
                      นนทบุรี ธนบุรี และสมุทรปราการ มีแนวความคิดในการควบคุมการขยายตัวทางกายภาพของเมือง
                      ทั้งโดยพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พระราชบัญญัติการวางแผนผังเมือง (Town-

                      planning) ตลอดจนการขยายโครงข่ายการคมนาคม โดยการสร้างสะพานและถนนเพิ่มเติมในช่วง
                      รัชสมัย ชีวิตเมืองสมัยใหม่ที่มีโรงมหรสพปรับอากาศอย่างศาลาเฉลิมกรุง โรงแรมสมัยใหม่อย่างโรงแรม

                      โทรคาเดโรและโรงแรมราชธานี ห้างสรรพสินค้าอย่างห้างบีกริม หรือพื้นที่สาธารณะอย่างสวนสนุกของ
                      พระยาคทาธรบดีที่สวนลุมพินี สะท้อนถึงวิถีชีวิตเมืองของคนกรุงเทพฯ ที่พัฒนาไปไกลกว่ารัชกาล
                      ก่อนๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรม โลกทัศน์ของคนชั้นกลางในเมือง ที่นำไปสู่

                      การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ. ๒๔๗๕

                            ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลลัพธ์โดยตรงของความเปลี่ยนแปลงในการ

                      ประกอบวิชาชีพสถาปนิก เห็นได้ชัดว่าช่วงรัชกาลที่ ๗ เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่ช่างฝรั่งค่อย ๆ
                      ลดบทบาทลงภายหลังการเริ่มเข้ารับราชการของ “สถาปนิกสยาม” รุ่นแรก การเลิกจ้างช่างฝรั่ง

                      ที่เหลือในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ขณะเดียวกัน
                      ก็มีสถาปนิกชาวตะวันตกอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังคงมีบทบาทในวงการก่อสร้างอยู่ ได้แก่ นายชาลส์ เบเกอแลง
                      และนายเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ ที่ยังคงประกอบวิชาชีพสถาปนิกในสยามจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒






                                                                                                            197
   203   204   205   206   207   208   209   210   211   212   213