Page 185 - kpiebook65062
P. 185
โรงราชรถ พิพิธภัณฑสถาน
โรงราชรถ เป็นอาคารที่เก็บรักษาราชรถในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคลมาแต่เดิม ต่อมา
ในรัชกาลที่ ๗ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร
ใน พ.ศ. ๒๔๗๑ โรงราชรถของเดิมซึ่งเป็นโครงสร้างไม้มุงสังกะสีชำรุดทรุดโทรมมาก ในเดือนมกราคม
พ.ศ. ๒๔๗๑ สมเด็จฯ กรมพระดำรงราชานุภาพ นายกราชบัณฑิตยสภาจึงทูลขอให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ
กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ อุปนายกแผนกศิลปากรฯ กำกับการให้นายช่างแผนกศิลปากรคิดแบบ
โรงราชรถขึ้นใหม่ด้วยเครื่องคอนกรีตให้เป็นของถาวร ประมาณการค่าก่อสร้าง ๕๑,๕๐๐ บาท โดยให้มี
รูปทรงคล้ายโรงราชรถเดิมซึ่งเป็นโครงสร้างไม้ ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับตำแหน่งที่ตั้งเดิม โดยเลื่อนอาคาร
ไปให้เสมอหน้ากับพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย โรงราชรถใหม่นี้เป็นอาคารชั้นเดียว มีผังรูปคล้ายตัวไอ (I)
ในภาษาอังกฤษ คือประกอบด้วยห้องโถงสูงที่ไว้พระมหาพิไชยราชรถสองห้อง แต่ละห้องกว้าง ๙ เมตร
ยาว ๒๐.๑๐ เมตร สูงถึงขื่อประมาณ ๑๒.๐๐ เมตร เพื่อให้จอดพระมหาพิไชยราชรถได้ ห้องโถงคู่นี้
มีห้องโถงเชื่อม ขนาดกว้าง ๑๗.๐๐ เมตร ยาว ๑๘.๐๐ เมตร โครงสร้างพื้น เสา และจันทัน
เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก คำนวณให้เล็กและเรียวที่สุดทว่ามั่นคงแข็งแรงและทนไฟ โครงหลังคาเป็น
โครงถัก (truss) คอนกรีตเสริมเหล็ก โดยในเบื้องต้นสถาปนิกออกแบบให้ท้องโครงถักนั้นโค้ง ต่อมา
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ จึงปรับแก้แบบเป็นจั่วแหลม เพื่อให้ประหยัดโครงสร้าง และให้รับกับ
หลังคาจั่วที่โครงถักนั้นรองรับอยู่ เมื่อการออกแบบโรงราชรถใหม่แล้วเสร็จ ศิลปากรสถานจึงเริ่ม
การก่อสร้าง โดยมีนายเอ็น. สเปรอตตี (N. Sperotti) ช่างชาวอิตาเลียนเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง
งบประมาณ ๓๔,๘๐๐ บาท การก่อสร้างใช้เวลา ๗ เพียงเดือนจึงแล้วเสร็จ ในช่วงปลาย พ.ศ. ๒๔๗๒ ๓๙
โครงสร้างหลังคา โรงราชรถ พิพิธภัณฑสถาน.
1 สถาปัตย์ใต้ร่มฉัตรพระปกเกล้าฯ