Page 165 - kpiebook65062
P. 165
ศาลาเฉลิมกรุง
ศาลาเฉลิมกรุงเป็นโรงมหรสพสมัยใหม่ที่รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทาน
เป็นของขวัญให้แก่ประชาชน เนื่องในการฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี โดยตั้งอยู่ที่แยกถนนตรีเพชร
ตัดกับถนนเจริญกรุง ในพื้นที่ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า สนามน้ำจืด ที่ดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู กว้างประมาณ
๔๐ เมตร ยาวประมาณ ๕๕ เมตร อันเป็นที่ดินขนาดจำกัดเมื่อเทียบกับจำนวนที่นั่งผู้ชม ประกอบกับ
พื้นที่ใช้สอยที่ประกอบด้วยห้องชมการแสดงใหญ่ ห้องชมการแสดงเล็ก ห้องขายอาหาร ๒ ห้อง
บาร์เครื่องดื่ม ๒ บาร์ พื้นที่บริการหลังฉาก (backstage) ฯลฯ ทั้งนี้โครงการนี้มีหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม
กฤดากร เป็นสถาปนิก นายนารถ โพธิประสาท เป็นวิศวกร
ศาลาเฉลิมกรุงเป็นอาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก สูงสามชั้น แบ่งออกเป็นอาคารด้านใต้
(ตามแนวถนนเจริญกรุง) และอาคารด้านเหนือ (ตามแนวถนนตรีเพชร) ห้องชมการแสดงใหญ่มีผัง
รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๑๙.๕๐ เมตร ยาว ๓๐.๓๐ เมตร และพื้นที่บริการหลังฉากอีก ๙ เมตร
สถาปนิกจึงวางส่วนนี้ไว้ด้านใต้ ซึ่งเป็นด้านยาวของที่ดิน ห้องชมการแสดงใหญ่นี้สูงสามชั้น ชั้นล่างเป็น
ที่นั่งคนดูเต็มทั้งชั้น มีทางเข้าก่อนการชมการแสดงด้านทิศเหนือ และเมื่อชมการแสดงจบสามารถ
ออกจากห้องนี้ได้สามทาง คือด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ชั้นที่สองเป็นชั้นลอย
มีที่นั่งชมการแสดงซ้อนอยู่เหนือที่นั่งชั้นล่างบางส่วน ส่วนชั้นที่สามเป็นห้องฉาย ทางด้านเหนือของ
อาคารชั้นล่างมีห้องอาหาร บาร์เครื่องดื่ม และครัวหลัก ชั้นสองมีห้องอาหารและบาร์เครื่องดื่มอีก
ชุดหนึ่ง ชั้นที่สามมีห้องชมการแสดงเล็กและห้องเลานจ์ ทางเข้าหลักของอาคารอยู่ที่มุม คือที่ถนน
ตรีเพชรตัดกับถนนเจริญกรุง หรือส่วนที่อาคารด้านเหนือต่อกับอาคารด้านใต้ สถาปนิกวางเส้นทาง
สัญจร คือบันไดหลัก บันไดรอง ลิฟต์ ลิฟต์บริการ และส่วนบริการไว้ที่รอยต่อนี้ ทำให้ได้ประโยชน์
ใช้สอยครบถ้วน จัดสรรพื้นที่ได้เหมาะสมกับปริมาณผู้ใช้งานในแต่ละส่วน จัดวางจังหวะของการเข้าถึง
ที่ดี และตอบสนองต่อพื้นที่ตั้งซึ่งเป็นที่หัวมุมถนนได้เป็นอย่างดี
ศาลาเฉลิมกรุงมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบอาร์ต เดโค รูปทรงอาคารประกอบด้วยปริมาตร
เรขาคณิตที่เรียบหลาย ๆ ก้อน จัดวางให้มีความสูงลดหลั่นกัน โดยปริมาตรสูงที่สุดอยู่ที่มุมอาคาร
ตรงกับทางเข้าหลัก มีหลังคาจั่วคลุม แต่ปิดบังเสียด้วยยอดผนัง (parapet) ทั้งอาคาร ทำให้อาคาร
ดูเรียบ ทันสมัย และสูงใหญ่กว่าความสูงที่แท้จริง การตกแต่งภายในเน้นเส้นสายเรขาคณิตที่สร้าง
ความตื่นใจ ประกอบกับวัสดุตกแต่งที่หรูหรา และประติมากรรมประดับอาคาร ตามแนวทาง
มัณฑนศิลปแบบอาร์ต เดโค นอกจากนี้ยังมีการผสานระบบอาคารสมัยใหม่ ทั้งระบบป้องกันอัคคีภัย
และระบบปรับอากาศขนาดใหญ่ อีกด้วย
1 สถาปัตย์ใต้ร่มฉัตรพระปกเกล้าฯ