Page 156 - kpiebook65062
P. 156
ตำหนักใหม่ วังสระปทุม
ตำหนักใหม่ วังสระปทุม เป็นอาคารที่สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์
โปรดให้สร้างขึ้นในพ.ศ. ๒๔๖๙ เพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์และครอบครัวในวังสระปทุม โดยในราว
พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้โปรดให้หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร นายช่างประจำกรมศิลปากร กระทรวงวัง
ออกแบบตำหนักที่ประทับหลังใหม่ ในบริเวณที่ดินวังสระปทุมด้านตะวันตก มีบริษัทยี. คลูเซอร์
(G. Cluzer Co.) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เริ่มต้นก่อสร้างในราว พ.ศ. ๒๔๖๘ และแล้วเสร็จ ใน พ.ศ. ๒๔๖๙
ตำหนักใหม่ วังสระปทุมเป็นอาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก สูงสองชั้น มีห้องใต้หลังคาที่ชั้นสาม
อาคารมีผังรูปสี่เหลี่ยมยาว วางตามแนวทิศตะวันออก–ตะวันตก รับลมประจำฤดูเต็มที่ มีมุขที่เทียบ
รถยนต์พระที่นั่งทางทิศตะวันออก บันไดหลักและบันไดรองทางทิศเหนือ มีระเบียงทางเดินยาว
ตลอดองค์พระตำหนัก เชื่อมโยงห้องต่าง ๆ ได้แก่ ห้องรับแขก ห้องประทับทรงสบาย ห้องเสวย
ห้องทรงพระอักษร ห้องบรรทม และห้องสรง เป็นต้น ห้องโถงและบันไดหลักปูหินอ่อน ส่วนห้องต่างๆ
ปูพื้นไม้สัก โครงสร้างหลังคาเป็นโครงถัก (truss) ไม้สัก มุงกระเบื้องใยหิน (Asbestos roofing tiles)
สีเทาเข้มอย่างหินชนวน บานพระทวารและพระบัญชรไม้สักเรียบ ๆ ตอนบนมีช่องแสงกรุกระจก
พิมพ์ลาย
ตำหนักใหม่ วังสระปทุมมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบอาร์ต เดโค (Art Deco) มีลักษณะเด่น
ที่การเน้นส่วนสำคัญของอาคารชั้นล่างด้วยซุ้มโค้งเรียบ ๆ ไม่ตกแต่งลวดบัวอย่างซุ้มโค้งใน
สถาปัตยกรรมแบบคลาสสิค ส่วนชั้นบนใช้ช่องเปิดรูปสี่เหลี่ยมเรียบ ๆ สะท้อนถึงแนวพระดำริเรื่อง
ความประหยัดและการสนองตอบประโยชน์ใช้สอย สถาปนิกเน้นให้ส่วนบันไดทั้งสองแห่งยื่นออกมา
จากตัวอาคารพระตำหนัก ทำให้เกิดจังหวะของรูปทรงที่น่าสนใจ ใช้เส้นตั้งประกอบกับจังหวะของ
หน้าต่างที่เป็นขั้นบันไดสร้างความน่าสนใจในรูปทรงอาคาร นอกจากนี้ยังออกแบบหลังคาให้มี
รายละเอียดหลากหลาย ทั้งหลังคาแบบจั่วปีกนก (hip-and-gable roof) จั่วหัวตัด (clipped-gable
roof) หน้าต่างเล็กบนผืนหลังคา (shed dormer) และการทิ้งชายคาไม่เท่ากัน ทำให้เกิดความสมดุล
แบบอสมมาตร (asymmetrical balance) ในรูปทรงอาคาร อันเป็นลักษณะเดียวกับรูปแบบ
สถาปัตยกรรมพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อันเป็นผลงานของหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ในระยะ
ต่อมา ๒๘
1