Page 4 - b29420_Fulltext
P. 4
บทคัดย่อภาษาไทย
โครงการวิจัยการขับเคลื่อนการเลือกตั้งสมานฉันท์และไม่ซื้อสิทธิขายเสียง จังหวัดร้อยเอ็ด มีวัตถุประสงค์
เพื่อ 1) ศึกษาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่นำกระบวนการส่งเสริมการเลือกตั้งสมานฉันท์และไม่ซื้อสิทธิ
ขายเสียงไปดำเนินการ 2) ศึกษาเงื่อนไขปัจจัยที่ส่งเสริมหรือขัดขวางต่อกระบวนการเลือกตั้งสมานฉันท์และไม่ซื้อ
สิทธิขายเสียง 3) ศึกษาเงื่อนไขปัจจัยที่ส่งผลต่อความต่อเนื่องของกระบวนการเลือกตั้งสมานฉันท์และไม่ซื้อสิทธิ
ขายเสียง และ 4) พัฒนาต้นแบบ (model) ของกระบวนการเลือกตั้งสมานฉันท์และไม่ซื้อสิทธิขายเสียง สำหรับ
ขยายผลในพื้นที่อื่นต่อไป งานวิจัยดำเนินการกับพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดร้อยเอ็ดจำนวน 17 แห่ง แบ่งออกเป็น
พื้นที่ที่ดำเนินโครงการเลือกตั้งสมานฉันท์และไม่ซื้อสิทธิขายเสียงจำนวน 12 แห่ง และพื้นที่ข้างเคียงที่ไม่ได้ดำเนิน
โครงการจำนวน 5 แห่ง ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพประกอบกันทั้งแบบสอบถาม การศึกษา
เอกสารและการสัมภาษณ์ ผลการศึกษาได้มาจากการประมวลข้อมูลแบบสอบถามจำนวน 290 ชุด และบท
สัมภาษณ์จำนวน 60 ตัวอย่าง
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการดำเนินโครงการเลือกตั้งสมานฉันท์และไม่ซื้อสิทธิขายเสียงสามารถสร้างความ
เปลี่ยนแปลงด้านความรู้ความเข้าใจ ความตระหนัก และส่งผลให้บรรยากาศการเลือกตั้งเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น
โดยกลุ่มตัวอย่างรับรู้ถึงการซื้อสิทธิขายเสียงที่ลดลง ขณะเดียวกันก็รับรู้ถึงความสมานฉันท์ภายหลังการเลือกตั้งที่
เพิ่มมากขึ้น โดยพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการมีความเปลี่ยนแปลงต่างไปจากพื้นที่ข้างเคียงอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ที่ดำเนินโครงการก็มีความแตกต่างกันในระดับของความสำเร็จ เนื่องด้วยเงื่อนไขปัจจัยที่
ส่งผลให้กระบวนการส่งเสริมการเลือกตั้งสมานฉันท์และไม่ซื้อสิทธิขายเสียงแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่
ประกอบด้วย เงื่อนไขด้านแกนนำและผู้เกี่ยวข้อง (actors) เงื่อนไขด้านกระบวนการส่งเสริมการเลือกตั้งสมานฉันท์
และไม่ซื้อสิทธิขายเสียง (process) และเงื่อนไขด้านวัฒนธรรมและผลประโยชน์ (interest & culture)
ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการเลือกตั้งสมานฉันท์และไม่ซื้อสิทธิขายเสียงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้วิจัยจึง
เสนอ “โมเดล 5 สร้างสู่การเลือกตั้งสมานฉันท์และไม่ซื้อสิทธิขายเสียง” ขึ้น เพื่อเป็นกรอบคิดและแนวทางการ
ส่งเสริมการเลือกตั้งสมานฉันท์และไม่ซื้อสิทธิขายเสียงสำหรับการเลือกตั้งในระดับท้องที่ ซึ่งประกอบไปด้วย สร้าง
ความรู้ สร้างความตระหนัก สร้างให้ทุกคนเป็นแกนนำ สร้างช่องทางการมีส่วนร่วม และสร้างวัฒนธรรม
ประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น
คำสำคัญ: การเลือกตั้งสมานฉันท์และไม่ซื้อสิทธิขายเสียง, ประชาธิปไตย, การมีส่วนร่วมทางการเมือง
ค