Page 3 - kpi20470
P. 3
คำนำ
สถาบันพระปกเกล้า
นับเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
อย่างเป็นรูปธรรม ภายหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
จนถึงปัจจุบัน ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายกับการปกครองท้องถิ่นไทย โดยเฉพาะ
อย่างยิ่งบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการขยายออกไปอย่างกว้างขวาง
ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ การส่งเสริมคุณภาพ
ชีวิต การจัดระเบียบชุมชน ตลอดจนการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้
ล้วนตอบสนองความต้องการของประชาชนและสามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที
อันนำมาสู่คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน จึงนับได้ว่า องค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศตั้งแต่ระดับฐานราก
อีกทั้งยังเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในความสนใจของสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนา
ประชาธิปไตยนั้น จึงมีความมุ่งมั่นให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องการพัฒนาประชาธิปไตย
ท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ ด้วยเชื่อว่า การพัฒนาประชาธิปไตยท้องถิ่นมีความสำคัญ
มากสำหรับการปูทางไปสู่รากฐานประชาธิปไตยในระดับประเทศ และยังเป็นหมุดหมาย
สำคัญที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น
ได้อย่างกว้างขวาง โดยผ่านกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่
ที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นกลไกสำคัญที่มาจากประชาชน ดำเนิน
กิจการสาธารณะเพื่อประชาชน และกำกับดูแลโดยประชาชนอย่างแท้จริง
สถาบันพระปกเกล้า จึงได้จัดทำหนังสือ “รายงานสถานการณ์การกระจายอำนาจ
ประจำปี พ.ศ. 2561 : บทสำรวจความเป็นประชาธิปไตยท้องถิ่น” เพื่อรายงาน
สถานการณ์การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา และ
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงาน
ทั่วไป และผู้ที่สนใจในประเด็นความเป็นประชาธิปไตยท้องถิ่น อันจะนำไปสู่การส่งเสริม
ให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและการพัฒนาการปกครองท้องถิ่นให้เป็นรากฐาน
ที่เข้มแข็งของการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยต่อไป
(ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย)
เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
สถาบันพระปกเกล้า III