Page 12 - kpi17073
P. 12
1. หลักการและเหตุผล
นับเป็นเวลากว่าแปดทศวรรษที่ประเทศไทยได้เข้าสู่เส้นทางการพัฒนา
ประชาธิปไตย ผ่านการลองผิดลองถูก และมีกระบวนการเรียนรู้ในวิถี
ประชาธิปไตยทั้งภาคการเมืองและภาคประชาชน รวมทั้งมีการเกิดขึ้นของ
สถาบันทางการเมืองและองค์กรอื่นๆ ซึ่งต้องผ่านช่วงเวลาที่เกิดการแปรเปลี่ยน
กลับไปกลับมาของประชาธิปไตยและเผด็จการมาโดยตลอด
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็น
ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้ระบบรัฐสภา มีการ
แบ่งแยกอำนาจผ่าน 3 สถาบันหลัก ได้แก่อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ
หากแต่ในความเป็นจริงภายใต้ระบอบประชาธิปไตยไทย ดุลอำนาจทางการเมือง
มีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง ทั้งการปกครองที่มาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
และที่มาด้วยวิธีอื่นๆ
การเปลี่ยนแปลงกลายเป็นธรรมชาติของการพัฒนาการเมืองของประเทศ
ไทย กว่าแปดสิบปีที่ผ่านมา มีรัฐธรรมนูญ 19 ฉบับ มีการรัฐประหารถึงสิบสาม
ครั้ง นอกจากนี้ เมื่อเหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค” ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516
ได้เกิดดุลอำนาจของภาคประชาชนขึ้นจากกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่เคลื่อนไหว
เรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่หลังหมดยุคของนักศึกษา สถานการณ์การเมืองได้ก้าว
เข้าสู่ยุคของประชาธิปไตยครึ่งใบ อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลง
ระบบการเมืองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ยังคงปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กระทั่งปี พ.ศ.2535 เกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ซึ่งผลจากกาเปลี่ยนแปลง
ครั้งนี้นำไปสู่กระแสการปฏิรูปการเมือง เป็นที่มาของรัฐธรรมนูญแห่ง
ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม
ทางการเมืองและมีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นอีกดุลอำนาจหนึ่งที่ทำ
หน้าที่ตรวจสอบอำนาจต่างๆ มากขึ้น แต่กระนั้น ประเทศไทยก็ยังประสบปัญหา
ในการบริหารประเทศจากปัจจัยหลายประการ อาทิ การทุจริตของนักการเมือง
สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ รวมทั้ง การขาดเสถียรภาพทางการเมือง นำไปสู่กระแส
ของการปฏิรูปการเมืองเพื่อสร้างดุลยภาพที่เหมาะสม
หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
ประเทศไทยกลับเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยอีกครั้ง แต่ยังคงมีการต่อสู้ของกลุ่ม
อำนาจต่างๆ จนเกิดความขัดแย้งทางความคิด เกิดความแตกแยกในหลายพื้นที่
มีการเคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่ของมวลชนกลุ่มต่างๆ หลายครั้ง ส่งผลกระทบและ
ความเสียหายต่อทุกภาคส่วนเป็นวงกว้าง สถานการณ์มีแนวโน้มที่จะทวีความ
รุนแรงขึ้น แม้มีความพยายามที่จะยุติปัญหาด้วยกลไกปกติแต่ไม่เป็นผล จนนำ
ไปสู่การเกิดรัฐประหารอีกครั้ง