Page 199 - kpi10607
P. 199
ฝ่าวิกฤต สร้างโอกาส บทบาทท้องถิ่นไทย
200 1) โครงการดูแลผู้ป่วยสุขภาพจิตที่บ้านโดยการมีส่วนร่วมของ
สถาบันพระปกเกล้า ครอบครัวและชุมชน
สภาพปัญหา/สถานการณ์ก่อนริเริ่มโครงการ
ปัญหาของโรคทางจิตเภทที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและทำให้ต้องทนทุกข์ทรมาน
จากโรคดังกล่าวคือ การสูญเสียความสามารถในการหยั่งรู้ ความสามารถที่จะสนองความต้องการที่จำเป็น
ในการดำรงชีวิตหรือความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมต่างๆ ที่อยู่ในกรอบของความเป็นจริงเมื่อถูกวินิจฉัยว่า
ป่วยทางจิต เป็นเสมือนตราบาปที่ติดตัวผู้ป่วยไปตลอดชีวิต แม้ว่าปัจจุบันการบำบัดรักษาผู้ป่วยสุขภาพจิต
จะมีความทันสมัย สามารถควบคุมอาการของผู้ป่วยให้สงบและสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
แต่กลับพบว่าคนในชุมชนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจว่าผู้ป่วยจิตเภทเป็นอันตรายน่ากลัว พยายามหนีห่าง
ไม่เข้าใกล้และไม่ยอมรับไม่คบค้าสมาคมด้วย
ในตำบลแม่ลาดมีผู้พิการจำนวน 47 ราย และมีผู้ป่วยจิตเภทที่ควบคุมอาการได้จำนวน 12 ราย
การดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตมีปัญหาและอุปสรรคอย่างมาก เนื่องจากชุมชนยังไม่ให้การยอมรับ
และมีทัศนคติไม่ดีต่อผู้ป่วยจิตเภท ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะกลับมาป่วยซ้ำอีกสูงมาก ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ
ตามมาอีกหลายเรื่อง ประกอบกับจำนวนผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหา
ความเครียดทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ทำให้เกิดปัญหาการฆ่าตัวตายในตำบลแม่ลาดสูงมาก
โดยในปี พ.ศ. 2549 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จจำนวน 3 ราย โดยรายที่ 1 มีสาเหตุมาจากสภาพร่างกายพิการ
จึงแก้ปัญหาด้วยการกินยาตาย รายที่ 2 ประสบปัญหายากจน เกิดปัญหาทางจิต จึงเครียดแล้วกินยาตาย และ
รายที่ 3 ไม่ทราบสาเหตุ แต่เลือกที่จะแก้ไขปัญหาด้วยการยิงตัวตาย ทั้งนี้ในปีเดียวกันนั้นเองมีผู้คิดฆ่าตัวตาย
แต่ไม่สำเร็จจำนวน 4 ราย
จากปัญหาการฆ่าตัวตายดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่เป็นกำลังสำคัญในการ
พัฒนาตำบลอย่างมาก จึงทำให้ต้องหาวิธีที่จะทำให้คนในตำบลมีสุขภาพจิตที่ดี ทางออกที่ดีที่สุดขององค์การ
บริหารส่วนตำบลแม่ลาดในการแก้ไขปัญหาคือ การสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนในชุมชนและคนใน
ครอบครัวให้เห็นความสำคัญของการดูแลผู้พิการ และผู้ป่วยจิตเภท เพราะผู้ที่ใกล้ชิดผู้ป่วยมากที่สุดคือ
ครอบครัว เมื่อเกิดการเจ็บป่วยหรือปัญหาสุขภาพของสมาชิกผู้ใดผู้หนึ่งในครอบครัวแล้วย่อมมีผลกระทบต่อ
สมาชิกคนอื่นหลายประการ เช่น ทำให้เกิดความทุกข์ ความวิตกกังวลต่อสิ่งที่เกิดขึ้น สมาชิกอื่นต้องทำหน้าที่
แทนสมาชิกที่ไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้ ครอบครัวสูญเสียเวลาและทรัพย์สินในการดูแลรักษาหรือ
แก้ปัญหา รวมถึงครอบครัวอาจมีความรู้สึกสูญเสียเกียรติยศ ชื่อเสียง ทำให้สังคมรังเกียจ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่
ของครอบครัวที่ต้องปฏิบัติเมื่อสมาชิกในครอบครัวเกิดการเจ็บป่วยขึ้นที่บ้าน แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันกลับ
พบว่าผู้ป่วยจิตเภทออกจากโรงพยาบาลกลับไปอยู่บ้าน การดูแลเพื่อฟื้นฟูสภาพทางจิตใจของผู้ป่วยจึงเป็น
ภาระของครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่สภาพแวดล้อมของครอบครัว ฐานะทางเศรษฐกิจของ
ครอบครัวยังไม่พร้อมที่จะให้การดูแล เนื่องจากขาดความรู้ ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่และวิธีการดูแลผู้ป่วย
จิตเภทจึงทำให้ครอบครัวและชุมชนมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการดูแลผู้ป่วย องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลาดจึงได้
ดำเนินการโครงการดูแลผู้ป่วยสุขภาพจิตที่บ้านโดยการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชนขึ้น