Page 198 - kpi10607
P. 198
ฝ่าวิกฤต สร้างโอกาส บทบาทท้องถิ่นไทย
1
บริบทและข้อมูลทั่วไปขององค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลาด
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลาดตั้งอยู่ในตำบลแม่ลาดซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นเป็นตำบลเมื่อวันที่ 30 กันยายน
พ.ศ. 2514 ในท้องที่อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร โดยมีเขตการปกครองรวม 6 หมู่บ้าน ทั้งนี้ตำบล สถาบันพระปกเกล้า
แม่ลาดได้รับการจัดตั้งหรือยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลาดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2539
สภาพพื้นที่และระบบสาธารณูปโภค มีจำนวนครัวเรือนที่มีไฟฟ้าใช้ในเขต อบต. จำนวน 1,106 ครัวเรือน
จำนวนบ้านที่มีโทรศัพท์ 225 หลังคาเรือน คิดเป็นร้อยละ20 ของจำนวนหลังคาเรือน ประชากรส่วนใหญ่
ในตำบลแม่ลาดประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก เช่น ทำนา ทำสวนผลไม้ สวนผักชี เลี้ยงปลาในกระชัง
เลี้ยงสัตว์เป็นบางส่วน รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรสำหรับปี พ.ศ. 2549 สูงกว่าเกณฑ์ 23,000 บาท (ข้อมูล
จปฐ. ปี 2551) อนึ่งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2540 ได้มีนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินในพื้นที่หมู่ที่ 2 บ้านแม่ลาดใหญ่
และหมู่ที่ 1 บ้านใหม่สุขสมบูรณ์ประมาณ 6,000 ไร่ ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งไม่มีที่ดินทำกินต้องประกอบอาชีพ
รับจ้าง ทำให้รายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว ต้องอพยพแรงงานไปทำงานต่างจังหวัดหรือในเมืองที่มีความเจริญ
กว่า
นอกจากนี้ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2541 จนถึงปัจจุบันได้มีกลุ่มแม่บ้านได้รวมกลุ่มกันทำอาชีพเสริม
หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว เช่น การจัดทำผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว การแปรรูปปลาร้าจากปลาทับทิม การทำ
น้ำยาล้างจานจากลูกยอ การทำดอกไม้ประดิษฐ์จากถุงน่องใยบัว และการทำการบูรหอม การเพาะเห็ดนางฟ้า
และการเลี้ยงปลาในกระชังเพื่อหารายได้เสริมให้กับครอบครัว ประกอบกับปัจจุบันได้มีเกษตรกรส่วนหนึ่งได้
จัดทำปุ๋ยน้ำชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดเพื่อใช้ในการฉีดพ่นผลผลิตทางการเกษตรและใช้ปุ๋ยหว่านในนาข้าว
เช่น ข้าว ผักและผลไม้ต่างๆ ทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิต และเป็นการลดสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อ
สิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่งด้วย
ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลาด เห็นว่าเกษตรกรประสบปัญหาน้ำมันแพงจึงได้จัดให้มีการ
อบรมและส่งเสริมการปลูกสบู่ดำ เพื่อลดต้นทุนในการผลิตสินค้า ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 98
ราย และมีเกษตรกรนิยมปลูกสบู่ดำมากขึ้นตามลำดับ
โดยสรุปพื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลแม่ลาดเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำบางหมู่บ้านมีอาณาเขตติดแม่น้ำปิง
ทำให้ประชากรในตำบลส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร โดยเฉพาะข้าว เกษตรกรทำนาเฉลี่ยประมาณ 3
ครั้งต่อปี แต่เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ยังนิยมใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีในการทำนาทำให้ต้นทุนในการผลิตสูง
ประกอบกับข้าวมีราคาที่ไม่แน่นอนทำให้เกษตรกรบางส่วนยังมีหนี้สินมาก เมื่อมีการก่อตั้งโรงงานขนาดใหญ่
ของบริษัทเบียร์ไทยขึ้นประมาณ พ.ศ.2540 ทำให้พื้นที่ส่วนหนึ่งขององค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลาดมีการ
เปลี่ยนมือจากชาวบ้านไปเป็นของนายทุนอุตสาหกรรม ส่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและความเป็นอยู่
ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิ ราษฎรในพื้นที่และคนต่างถิ่นจำนวนมากหันไปประกอบอาชีพรับจ้างเป็น
พนักงานในโรงงาน ทำให้ตอนกลางวันแทบจะไม่มีคนหนุ่มสาวอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ยกเว้นคนแก่และเด็ก
นอกจากนี้ยังมีการขยายตัวของธุรกิจบ้านเช่าปรากฏให้เห็นอยู่ดาษดื่นในพื้นที่อีกด้วย ชี้ให้เห็นถึงเริ่มการ
เปลี่ยนแปลงของชุมชนจากสังคมชนบทเป็นสังคมกึ่งชนบทกึ่งเมือง (Semi Rural - Semi Urban
Community) อย่างชัดเจน แม้การประกอบอาชีพหลักเป็นเกษตรกรรม แต่ยังมีการประกอบอาชีพรับจ้างใน
โรงงานอุตสาหกรรม ค้าขาย รับราชการ และอื่นๆ