Page 169 - kpiebook67015
P. 169
16
2. จุดแข็งของเครือข่ายที่มีการทำงานร่วมกันอย่างยาวนาน โดยแต่ละหน่วยงาน
ที่เข้ามาเป็นเครือข่ายต่างทุ่มเทเพื่อผลลัพธ์ที่มุ่งหวัง เนื่องจากเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้นมีร่วมกัน
ทำให้เครือข่ายต่าง ๆ มีความเข้มแข็ง สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องยาวนานนับสิบปี
3. เครือข่ายมีการประชุมร่วมกันเพื่อถอดบทเรียน หรือผลลัพธ์ที่ผ่านมาในแต่ละปี/
โครงการ เพื่อนำมาทบทวน ปรับรูปแบบ หรือวิธีการทำงานร่วมกันในปีถัดไป เพื่อให้
การทำงานนั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด
4. เครือข่ายมีการขยายผลอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้มแข็งและให้เกิดความยั่งยืน
สำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเลิศด้านการเสริมสร้าง
เครือข่าย รัฐ เอกชน และประชาสังคม ของเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ได้แก่
โครงการเครือข่ายโรงเรียนเด็กไทยฟันดี เด็กเมืองศรี ฟันดี ยิ้มสวย
จากข้อมูลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปาก ปี พ.ศ. 2553 ของนักเรียนโรงเรียนเขต
เทศบาลเมืองศรีสะเกษ ในเด็กนักเรียนอายุ 12 ปี จำนวน 1,405 คน พบว่ามีอัตราการเกิด
โรคฟันผุ ร้อยละ 77.30 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ตัวชี้วัดที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ว่า อัตรา
การเกิดฟันผุไม่เกิน ร้อยละ 50 จากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า เด็กนักเรียนในเขต
เทศบาลเมืองศรีสะเกษมีปัญหาสุขภาพช่องปากที่ควรต้องได้รับการแก้ไข ไม่เช่นนั้นแล้วก็อาจ
จะสูญเสียฟัน จนกระทั่งนำไปสู่ปัญหาคุณภาพชีวิตด้านอื่น ๆ ตามมา
ในอดีตแนวทางการจัดบริการส่งเสริมสุขภาพช่องปากในโรงเรียนเขตเทศบาลเมือง
ศรีสะเกษใช้วิธีการดำเนินการทีละ 1 โรงเรียน มุ่งเน้นเฉพาะการให้ทันตสุขศึกษาแก่
เด็กนักเรียนเพื่อแก้ไขปัญหา โดยใช้ทันตาภิบาลในสังกัดเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ซึ่งมีอัตรา
กำลังเพียง 1 คน ทำงานรับมือปัญหาสุขภาพช่องปาก จากการประเมินผลพบว่า ไม่สามารถ
ลดอัตราการเกิดโรคฟันผุได้ ดังนั้นในปี พ.ศ. 2554 จึงเปลี่ยนแนวคิดการทำงานส่งเสริม
สุขภาพช่องปากในโรงเรียนเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ จากการดำเนินงานทีละโรงเรียน
มาเป็นการดำเนินงานสร้างสุขภาพในรูปแบบภาคีเครือข่าย ร่วมคิด ร่วมสร้างสุขภาพ ร่วมรับ
ประโยชน์ด้วยกัน ผ่านการทำงานในรูปแบบเครือข่ายภายใต้นโยบายธรรมนูญสุขภาพ
แห่งชาติ ข้อที่ 47 ระบุให้รัฐส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีศักยภาพ
ในการรับผิดชอบการจัดบริการสาธารณสุขในระดับปฐมภูมิ โดยเน้นที่การมีส่วนร่วมของ
ทุกภาคส่วนในการดูแลสุขภาพให้ประชาชนสามารถดูแลตนเองได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ
การดำเนินงานโครงการเครือข่ายโรงเรียนเด็กไทยฟันดี เด็กเมืองศรี ฟันดี ยิ้มสวย ตั้งแต่
ปี พ.ศ. 2554 มาจนถึงปัจจุบัน
รางวัลพระปกเกล้า’ 66