Page 4 - เอกสารประกอบการประชุมวิชาการ ครั้งที่ 23
P. 4
คำนำ
“ประชาธิปไตย” เป็นแนวคิดอยู่บนระเบียบทางการเมืองที่รับรอง
สิทธิเสรีภาพของประชาชน และจำกัดอำนาจของผู้ปกครอง หลังจากมี
การพัฒนามาอย่างยาวนานจนกระทั่งในปลายศตวรรษที่ 20 ระบอบ
ประชาธิปไตยเป็นที่ยอมรับว่าเป็นระบอบการเมืองหลักที่ขับเคลื่อน
สังคมโลกส่วนใหญ่ แต่ด้วยบริบททางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม
ที่แตกต่างกัน ส่งผลให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของแต่ละ
ประเทศมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป ซึ่งมีผลต่อการจัดระบบ
ความสัมพันธ์ทั้งภายในรัฐและระหว่างรัฐด้วยกันเอง หรือมี “ภูมิทัศน์
ประชาธิปไตย” ที่แตกต่างกัน
ภูมิทัศน์ประชาธิปไตย เป็นภาพสะท้อนของจินตนาการแห่ง
ความสัมพันธ์ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่ฉายภาพระบบ
ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่มีต่อกันระหว่างกลุ่มทางการเมืองในมิติ
ที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา ระบอบประชาธิปไตย
เริ่มถูกตั้งคำถามว่าเป็นแนวคิดที่สร้างแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์
และความเรืองรองให้กับประชาชนได้อีกหรือไม่ ความเปลี่ยนแปลงทาง
ด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และการเมืองที่เกิดขึ้นทั่วโลก ย่อมส่ง
ผลกระทบและสร้างการเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์การปกครองแบบ
ประชาธิปไตยอย่างกว้างขวาง จนกระทบไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย
ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้กระแสพลวัตรของภูมิทัศน์ประชาธิปไตยได้สร้าง
ความท้าทายใหม่ ๆ แก่สถาบันทางการเมืองหลักและประชาชนให้เกิด
การปรับตัว รวมถึงการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันให้สอดคล้องกับ
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น